tuna-day
K
Knowledge

ปลาทูน่า: สัตว์ทะเล อาหาร และความยั่งยืน

Author’s Talk: 

สวัสดีครับ เนื่องในวัน World Tuna Day นี้ เราอยากมาแบ่งปันวิธีการเลือกกินปลาทูน่าที่จะทำให้ทั้งเราและโลกยังสุขภาพดีกันอยู่ โดยผ่านการทำความรู้จักกับปลาทูน่าตั้งแต่ยังเป็นปลาในทะเลจนมาอยู่บนจานของเรากันครับ

 

ถึงตรงนี้ หากมีคำถามในหัวดังขึ้นมาว่า การกินปลาทำให้ยั่งยืนได้ด้วยหรอ ขอให้อดใจรอบทความชิ้นต่อไปครับ เราจะมาคุยกันว่า “หลังดู Seaspiracy จบ สิ่งที่ต้องทำคือ หยุดกินปลา.. จริงหรอ?” 

 

ปลาทูน่ามีความสำคัญยังไงกับท้องทะเลและผู้คน?

  1. ปลาทูน่าเป็นปลาผู้ล่าในท้องทะเล ถือเป็นผู้พิทักษ์แห่งท้องทะเล เพราะช่วยรักษาสมดุลด้วยการกินปลาตัวเล็กกว่า หมึก หรือพวกสัตว์เปลือกแข็ง บางทีก็กินแพลงก์ตอน สาหร่าย

  2. ทูน่าเป็นปลานักอพยพ ว่ายน้ำเก่ง และไปกันเป็นกลุ่ม เป็นสาเหตุที่เราสามารถจับได้เป็นแก๊ง บางทีก็มีโลมาติดสอยห้อยตามไปด้วย เพื่อป้องกันตัวจากฉลาม ซึ่งเป็นสาเหตุที่ว่าทำไมจับทูน่าแล้วติดโลมามาเป็น bycatch* ด้วยบ่อย 

*Bycatch คือสัตว์หรือสิ่งมีชีวิตอื่น ที่ไม่ได้อยู่ในเป้าหมาย แต่ถูกจับมาด้วยกัน ต่อให้ราคาอาจจะสูง แต่ถ้าไม่ใช่เป้าหมาย ก็มักจะถูกปล่อยลงทะเล ซึ่งอาจจะเป็นหรือตายก็บอกไม่ได้ bycatch มีได้ทั้งโลมา เต่า นก ฉลาม วาฬ หรือสัตว์อื่น ๆ 

  1. เป็นแหล่งสารอาหาร เช่น โปรตีน โอเมก้า 3 และแร่ธาตุอื่น ๆ ให้กับคนทั่วโลก และยังเป็นอาชีพของคนจำนวนมาก

  2. เป็นปลาที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง เกินครึ่งถูกนำมาทำทูน่ากระป๋อง นอกนั้นเป็นซูชิหรือซาชิมิ หรือที่รู้จักกันในชื่อ “มากุโระ” ยิ่งในช่วงโควิด-19 พบว่ามีการบริโภคทูน่ากระป๋องมากขึ้น 

 

เห็นได้ว่า ความต้องการทูน่าในโลกนี้จะต้องเยอะมากแน่ ๆ ซึ่งก็เห็นได้จากการประมาณตัวเลขว่า ทูน่าหลายสายพันธุ์ในหลายพื้นที่มีความเสี่ยงที่จะสูญพันธุ์ หากมีอัตราการจับกินแบบนี้ต่อไปเรื่อย ๆ 

 

ถ้าอย่างนั้นเราเลือกกินทูน่ายังไงดี?

ก่อนอื่นเลย เราอยากให้ดูเรื่องความยั่งยืนผ่านชนิดปลา พื้นที่ และวิธีจับ 

  • การดูชนิดปลาและแหล่งที่จับจะทำให้เราสามารถบอกได้ว่าปลาที่เรากินอยู่นี้ไม่กระทบกับจำนวนของปลาในอนาคต ซึ่งมีมาตรวัดคือ Overfished แล้วหรือยัง (ใน Infographic พันธุ์ปลาข้างล่าง เราระบุเป็น Healthy/Intermediate/Overfished ไว้ ซึ่งอ้างอิงข้อมูลมาจาก ISSF Report 2021) 

  • ส่วนการดูวิธีจับ จะช่วยให้เราเห็นว่านอกจากปลาทูน่าในจาน ยังมีสัตว์อื่น ๆ หรือ bycatch ที่ติดมาด้วยจากการจับวิธีนี้หรือเปล่า 

 

พันธุ์ที่นิยมทำทูน่ากระป๋อง (ดาวน์โหลดรูปขนาดใหญ่ เพื่อเก็บไว้ดูตอนช้อปปิ้งกันครับ)

พันธุ์ที่นิยมทำซูชิ/ซาชิมิ (ดาวน์โหลดรูปขนาดใหญ่)

ถ้าเป็นทูน่าซูชิ เราแนะนำให้ถามคนขายหรือเชฟ จะได้เรียนรู้เรื่องเนื้อปลาไปด้วยในตัว แต่สำหรับทูน่ากระป๋องที่เราเลือกเองได้ เราจะเลือกแบบไหนดี?

 

วิธีเลือกทูน่ากระป๋อง

เวลาเราเดินดูทูน่ากระป๋อง ไม่ว่าจะซื้อบ่อยแล้วหรือนาน ๆ ทีซื้อ ก็ต้องมีมึนหัวกันบ้างกับตัวเลือกที่หลากหลายเหลือเกิน ไม่ว่าจะเป็นยี่ห้อ ชนิดของเหลวหรือแม้กระทั่งรุ่นเพื่อสุขภาพ ในฐานะคนที่กินทูน่ากระป๋องมาหลายแบบ และไปหาข้อมูลรีวิวเพิ่มเติมมา เราขอนำมาแชร์ให้ทุกคนเพื่อนำไปเป็นไกด์เวลาเลือกซื้อกันครับ

 

  1. ดูชนิดพันธุ์ปลา แหล่งที่มา และวิธีการจับ

โดยทั่วไปสามารถพลิกดูที่ฝาทูน่ากระป๋องได้เลย บางยี่ห้อมีหน้าเว็บให้เราเข้าไปกรอกรหัสบนฝา เพื่อดูแหล่งที่มาและวิธีการจับเพิ่มเติมได้ด้วย 

- Sealect (บอกชนิดปลา, ที่มา และวิธีการจับ) https://www.sealect.co.th/story.php 

- Nautilus (บอกชนิดปลาและที่มา) ดูบนฝาได้เลย

- Super C Chef (บอกชนิดปลา, ที่มา และวิธีการจับ) http://www.seavaluegroup.com/trace-my-catch/ 

นอกจากนี้สามารถดูเรื่องความยั่งยืนของทูน่ากระป๋องในประเทศไทยได้ผ่านเว็บเท่ ๆ ของ Greepeace ได้ที่ https://tuna2020.greenpeace.or.th/ 

 

  1. เลือกทูน่าในน้ำมัน/น้ำเกลือ/น้ำแร่

ทูน่าในน้ำมัน: ไม่แนะนำเท่าไหร่ ถ้าเน้นเรื่องสุขภาพ เพราะ 1. มีไขมันจากน้ำมัน 2. Omega-3 สามารถละลายได้ในน้ำมัน ดังนั้นถ้าเราเทน้ำมันออก เจ้า Omega-3 ที่เป็นไขมันดีก็จะหายไปด้วย

คำแนะนำ: หากต้องการนำมาประกอบอาหารที่มีน้ำมัน แนะนำให้ใส่น้ำมันเองทีหลัง หรือถ้าต้องการรสชาติที่เข้มข้นจากกระป๋องเลย ให้เลือกน้ำมันที่ไม่แย่ต่อสุขภาพเกินไป เช่น น้ำมันทานตะวัน น้ำมันมะกอกหรือน้ำมันรำข้าว 

ทูน่าในน้ำเกลือ: มีรสชาติจากน้ำเกลือที่แช่และน้ำซูปที่มักจะถูกใส่ลงไปด้วย เหมาะกับการนำไปประกอบอาหาร แต่ระวังโซเดียมด้วยนะ การเทน้ำเกลือออกก็อาจจะช่วยลดโซเดียมได้ประมาณหนึ่ง

ทูน่าในน้ำแร่: ถ้าเน้นสุขภาพ แนะนำให้หยิบกระป๋องนี้ สามารถกินเปล่า ๆ ได้เลย ถ้าต้องการรสชาติเพิ่ม ค่อยปรุงตามชอบทีหลัง 

 

  1. เลือกแบบแซนด์วิช/แบบก้อน 

แบบแซนด์วิชจะเป็นชิ้นเล็ก ๆ หลายครั้งเนื้อมักจะนุ่มกว่า ถ้าจะเอาไปทำเมนูไข่เจียวทูน่า แนะนำแบบนี้เลย ส่วนแบบก้อนจะเป็นชิ้นใหญ่ อาจจะนำไปกินคู่กับสลัด หรือทำเป็นสเต็กก็ได้ครับ

 

  1. ดูฉลากโภชนาการ

ถึงจะเป็นทูน่าในน้ำ.. เหมือนกัน ก็ใช่ว่าจะมีประมาณสารอาหารเท่ากัน บางทีแบบแซนด์วิชหรือแบบก้อนก็มีโซเดียมไม่เท่ากัน ลองหยิบมาเทียบกันหลาย ๆ แบบ และเลือกแบบที่เหมาะกับตัวเองที่สุดดูนะครับ

 

ถ้าอ่านจบแล้วมาพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับ little big green ผ่านทางหน้าเพจ Facebook / Blockdit / Instagram ได้นะครับ

 

สำหรับครั้งหน้า เรามาพูดคุยให้ลึกขึ้นในเรื่องของปัญหาที่เกิดขึ้นในทะเล โดยเฉพาะในเรื่องของ Sustainable Fisheries กับ “หลังดู Seaspiracy จบ สิ่งที่ต้องทำคือ หยุดกินปลา.. จริงหรอ?” กันครับ

 

สุขสันต์วันทูน่า แล้วพบกันใหม่ครับ :)  //บีม

 

More on

https://tuna2020.greenpeace.or.th/

https://www.nationalgeographic.com/animals/fish/facts/atlantic-bluefin-tuna

https://www.epicurious.com/ingredients/the-best-canned-tuna-for-you-and-the-planet-article 

https://www.greenpeace.org/usa/eat-tuna-know-fish/

https://www.worldwildlife.org/species/tuna

https://iss-foundation.org/about-tuna/status-of-the-stocks/

https://thefishingdaily.com/latest-news/world-missing-out-on-nutrition-for-72-million-people-due-to-over-fishing/

http://www.fao.org/rural-employment/agricultural-sub-sectors/fisheries-and-aquaculture/en/

 

Quiz

Sharing Green Shop

Sharing Your Green Shop

Sharing your green shop
มาแนะนำร้านกรีนสุดโปรดของคุณกันเถอะ

มาช่วยกันแชร์ข้อมูลของร้านกรีน ๆ ที่คุณ รู้จัก ให้กลายเป็นคอมมูนิตี้ที่ทุกคนสามารถ ค้นหาร้านกรีน ๆ ที่อยู่ใกล้ตัวคุณ

เริ่มเลย!

Shade of Green

คุณคิดว่าตัวเองมีความกรีนแค่ไหน?

Play Quiz!