คัดแยกขยะพลาสติก ได้ง่าย ๆ ด้วย 7 สัญลักษณ์พลาสติกรีไซเคิล
K
Knowledge

คัดแยกขยะพลาสติก ได้ง่าย ๆ ด้วย 7 สัญลักษณ์พลาสติกรีไซเคิล

เพื่อน ๆ รู้ไหม บรรจุภัณฑ์พลาสติกต่าง ๆ ที่เราใช้กันในชีวิตประจำวันสามารถนำไปรีไซเคิลให้กลับมาเป็นของที่ใช้ประโยชน์ได้อีกครั้งด้วยนะ ซึ่งพลาสติกที่รีไซเคิลได้จะมีทั้งหมด 7 ประเภทด้วยกัน สังเกตได้จากสัญลักษณ์ลูกศรวิ่งวนเป็นรูปสามเหลี่ยมด้านเท่าที่มีอยู่บนบรรจุภัณฑ์หรือฉลากของบรรจุภัณฑ์ โดยเจ้าสัญลักษณ์นี้จะช่วยให้เราคัดแยกพลาสติกได้สะดวกและง่ายมากขึ้น มาดูกันว่าแต่ละสัญลักษณ์หมายถึงพลาสติกแบบไหน และสามารถนำไปรีไซเคิลเป็นอะไรได้บ้าง

  • PET,PETE เบอร์ 1 PET,PETE คือ โพลีเอทิลีนเทเรฟทาเลต (Polyethylene Terephthalate) เป็นพลาสติกใส เหนียวทนทาน ป้องกันการซึมผ่าน น้ำหนักเบา เราจะพบพลาสติกประเภทนี้บ่อยมาก ๆ ส่วนใหญ่จะเป็นขวดน้ำดื่ม ขวดน้ำอัดลม น้ำมันพืช ถุงขนม เป็นต้น แม้จะเป็นพลาสติกที่มีความปลอดภัยแต่ก็ไม่ควรนำกลับมาใช้ซ้ำ
    สามารถนำไปรีไซเคิล เป็นเส้นใยสำหรับทำเสื้อกันหนาว พรม ใยสังเคราะห์ในหมอน ถุงหูหิ้ว หรือกระเป๋า เป็นต้น
  • HDPE High Density Polyethyleneเบอร์ 2 HDPE คือ โพลีเอทิลีนชนิดความหนาแน่นสูง (High Density Polyethylene) เป็นพลาสติกแข็งทนทาน แตกยาก ทนต่อการทำละลายและความร้อน นิยมใช้ทำขวดนม ขวดน้ำผลไม้ โยเกิร์ต ขวดน้ำยาทำความสะอาดต่าง ๆ ขวดแชมพู ถุงพลาสติกหูหิ้ว โต๊ะเก้าอี้ หรือถังน้ำมันรถยนต์ เป็นต้น จัดว่าเป็นพลาสติกที่ปลอดภัยไม่มีสารเคมี
    สามารถนำมารีไซเคิล เป็นขวดน้ำมันเครื่อง ท่อหรือลังพลาสติก ไม้เทียมทำรั้ว เป็นต้น
  • PVC Polyvinylchlorideเบอร์ 3 PVC คือ โพลีไวนิลคลอไรด์ (Polyvinylchloride) เป็นพลาสติกที่ทนทานต่อสารเคมีและการขัดถู ใช้ทำท่อน้ำประปา สายยาง แผ่นฟิล์มห่ออาหาร แผ่นพลาสติกทำประตู หน้าต่างและหนังเทียม เฟอร์นิเจอร์ ของเล่น ถุงหูหิ้วขนาดเล็ก ไปจนถึงอุปกรณ์สำนักงาน พลาสติกชนิดนี้มีสารเคมีที่เป็นพิษปะปนอยู่ เมื่อถูกเผาไหม้จะปล่อยสารพิษออกมาจึงไม่ควรทำลายด้วยการเผา และไม่ควรให้อาหารหรือน้ำดื่มสัมผัสกับพลาสติก PVC โดยเฉพาะการนำอาหารร้อน ๆ ใส่ลงในถุงหูหิ้วโดยตรง
    สามารถนำมารีไซเคิล ต่อเป็นท่อน้ำประปา กรวยจราจร เฟอร์นิเจอร์ ม้านั่งพลาสติก เป็นต้น
  • LDPE Low Density Polyethylene เบอร์ 4 LDPE คือ โพลีเอทิลีนชนิดความหนาแน่นต่ำ (Low Density Polyethylene) มีลักษณะใส นิ่ม เหนียว ยืดหยุ่น ทนความเย็นถึง -70 องศาเซลเซียส แต่ไม่ทนความร้อน ส่วนใหญ่ใช้ทำฟิล์มห่ออาหารหรือห่อสิ่งของ ถุงเย็นสำหรับแช่แข็ง ถุงขนมปัง เป็นต้น แม้ส่วนใหญ่พลาสติกชนิดนี้จะค่อนข้างปลอดภัยแต่ก็ไม่ควรนำกลับมาใช้ซ้ำ
    สามารถนำมารีไซเคิล เป็นถุงหูหิ้วพลาสติกแบบบาง ถุงดำสำหรับใส่ขยะ ถังขยะ กระเบื้องปูพื้น เฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น
  • PP Poly propylene เบอร์ 5 PP คือ โพลีโพรพิลีน (Poly propylene) เป็นพลาสติกใส ปลอดภัยจากสารเคมีอันตราย ทนต่อความร้อนสูง จึงนิยมใช้ทำภาชนะบรรจุอาหารร้อน จาน ชาม กล่องใส่อาหาร หลอดดูดน้ำ รวมถึงถัง ตะกร้า กระบอกน้ำแช่เย็น ขวดบรรจุยา เป็นต้น ส่วนใหญ่แล้วพลาสติกชนิดนี้เข้าไมโครเวฟได้แต่ก็ต้องตรวจดูสัญลักษณ์ไมโครเวฟอีกทีเพื่อความชัวร์
    สามารถนำมารีไซเคิล เป็นกล่องแบตเตอรี่ ชิ้นส่วนในรถยนต์ และไม้กวาดพลาสติก เป็นต้น
  • PS Polystyrene เบอร์ 6 PS คือ โพลีสไตรีน (Polystyrene) มีลักษณะโปร่งใส ไอน้ำสามารถผ่านเข้าไปได้ ราคาถูก น้ำหนักเบา เปราะและแตกหักง่าย นิยมใช้ทำภาชนะบรรจุของใช้ พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง เช่น จาน ชาม ช้อนส้อม โฟม แก้ว พลาสติกชนิดนี้สามารถปล่อยสารก่อมะเร็งได้เมื่อโดนความร้อน จึงไม่ควรนำมาใช้ซ้ำในระยะยาว
    สามารถนำมารีไซเคิล เป็นไม้แขวนเสื้อ ไม้บรรทัด แผงสวิตช์ไฟ ฉนวนความร้อน แผงไข่ รวมถึงเครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ
  • Other หรือพลาสติกอื่น ๆ  เบอร์ 7 Other หรือพลาสติกอื่น ๆ เช่น PC หรือ โพลีคาร์บอนเนต (Polycarbonate) มีลักษณะใส แข็ง และทนทาน ส่วนใหญ่พบบ่อยในส่วนประกอบของแว่นกันแดด, เคสไอพอด, เคสคอมพิวเตอร์, เสื้อกันกระสุน, ขวดแกลลอน 5 ลิตร แม้กระทั่งขวดนมเด็ก โดยปกติแล้วพลาสติกชนิดนี้จะมีสาร BPA ที่เป็นอันตรายต่อร่างกายปะปนอยู่ โดยเฉพาะเมื่อถูกความร้อน เข้าไมโครเวฟ หรือโดนสารกัดกร่อนที่มีฤทธิ์แรงก็จะยิ่งปล่อยสาร BPA หรือ Bisphenol A ออกมาปนเปื้อนมากขึ้น จึงควรใช้พลาสติกชนิดนี้ด้วยความระมัดระวังหรือหลีกเลี่ยง
    สามารถนำมารีไซเคิล เป็นขวดน้ำ กล่องและถุงบรรจุอาหาร กระสอบปุ๋ย ถุงขยะ เป็นต้น

เพื่อน ๆ คงจะรู้จักกับพลาสติกรีไซเคิลมากยิ่งขึ้น ครั้งหน้าก่อนทิ้งขยะพลาสติกลงถังเรามาเริ่มแยกขยะพลาสติกที่รีไซเคิลได้ออกจากขยะอื่น ๆ เพื่อให้เจ้าพลาสติกถูกนำกลับมาใช้ต่ออย่างคุ้มค่ามากที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ ไม่ต้องถูกเอาไปทิ้งปะปนอยู่กับธรรมชาติเพื่อรอวันย่อยสลายยาวไกลนับพัน ๆ ปี

เรียบเรียงข้อมูลจาก naturalsociety.com, wontogether, posttoday.com

Quiz

Sharing Green Shop

Sharing Your Green Shop

Sharing your green shop
มาแนะนำร้านกรีนสุดโปรดของคุณกันเถอะ

มาช่วยกันแชร์ข้อมูลของร้านกรีน ๆ ที่คุณ รู้จัก ให้กลายเป็นคอมมูนิตี้ที่ทุกคนสามารถ ค้นหาร้านกรีน ๆ ที่อยู่ใกล้ตัวคุณ

เริ่มเลย!

Shade of Green

คุณคิดว่าตัวเองมีความกรีนแค่ไหน?

Play Quiz!