Tokushima
K
Knowledge

พักหัวใจที่ TOKUSHIMA เมืองลับๆ ในญี่ปุ่นที่โอบล้อมด้วยผืนน้ำและป่าเขา

ใครว่าญี่ปุ่นมีสเน่ห์แค่เมืองหลวงเมืองใหญ่

โทคุชิมะ คือจังหวัดเล็กๆ ทางตอนใต้ของญี่ปุ่นที่โอบล้อมด้วยทะเลและป่าเขา ภายในจังหวัดมีเมืองคามิคัตสึ เมืองเล็กๆ ที่กำลังมีภารกิจยิ่งใหญ่ในการทำให้ตัวเองเป็นเมืองไร้ขยะ หรือก็คือ เมือง zero waste เมืองแห่งแรกของดินแดนอาทิตย์อุทัย

 

หากนึกภาพไม่ออก ให้ลองจินตนาการถึงเมืองสโลว์ไลฟ์กลางธรรมชาติที่มีโรงแรมสไตล์รักษ์โลกให้บริการ มีศูนย์การเรียนรู้เรื่องแยกขยะ หรือถ้าเบื่อๆ ก็มานั่งเล่นคาเฟ่สายกรีนที่ตกแต่งร้านอบอุ่นน่านั่ง แบบที่วัสดุในร้านแทบทั้งหมดทำมาจากธรรมชาติที่ย่อยสลายได้ 

ระบบจัดการขยะทำให้คามิคัตสึกลายเป็นเมืองที่รีไซเคิลขยะได้ประมาณ 80% ของขยะทั้งหมดเลยนะ เป็นเลขที่หากเทียบกับทั้งประเทศแล้วน่าทึ่งมาก เพราะญี่ปุ่นรีไซเคิลขยะได้เพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์จากทั้งหมดเท่านั้น 

นอกจากเมืองคามิคัตสึ จ.โทคุชิมะยังมีที่เที่ยวทางธรรมชาติอีกหลากหลาย เป็นจังหวัดที่พบได้ทั้ง แม่น้ำ หุบเขา และป่าไม้เขียวขจี ไหนจะผู้คนที่น่ารักเป็นมิตรและบรรยากาศอบอุ่น โทคุชิมะถูกนิยามว่าเป็นจังหวัดแนวหน้าที่มีการบริหารผู้บริโภคและให้ความรู้ผู้บริโภคชั้นนำ และยังมีสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับ SDGs (เป้าหมายการพัฒนาโลกอย่างยั่งยืน) ภายในจังหวัดอีกมากมาย

ที่นี่จึงเหมาะกับทั้งสายกรีนที่อยากเที่ยวเชิงอนุรักษ์ สายเบื่อเมืองที่อยากหนีความวุ่นวายไปพักใจ หรือแม้แต่สายที่ไม่อินเรื่องกรีนๆ เอาซะเลยก็มาได้ เพราะทุกส่วนผสมสามารถทำให้เราทุกคนตกหลุมรักจังหวัดนี้ได้ไม่ยากเลย

 

- คามิคัตสึ เมืองลับๆ ที่รีไซเคิลขยะได้ 80% -

คามิคัตสึ คือเมืองเล็กๆ ที่ห่างออกจากตัวเมือง จ.โทคุชิมะราว 1 ชั่วโมง ตั้งอยู่เหนือระดับน้ำทะเล 700 เมตร เป็นเมืองที่โอบล้อมไปด้วยภูเขา ป่าไม้ และนาข้าว ประชากรส่วนใหญ่เป็นผู้สูงวัย และมีคนอาศัยอยู่ไม่ถึง 1,500 คน

เมืองแห่งนี้ประกาศตัวว่าจะเป็น ‘เมือง zero waste’ ตั้งแต่ปี 2003 เส้นทางการเดินทางและเติบโตสู่การเป็นเมืองปลอดขยะของพวกเขาเป็นอย่างไร มาดูกัน 

💚 ดื่มด่ำธรรมชาติกับ Café Polestar

“เราดีใจที่คุณมาที่นี่!” คือข้อความที่เขียนบนป้ายกระดานดำหน้าร้าน Café Polestar คาเฟ่ที่อยู่คู่เมืองคามิคัตสึมายาวนานถึง 10 ปี กระจกหน้าร้านแห่งนี้แปะสติกเกอร์ที่ติดเพื่ออวดความเป็นร้านไร้ขยะ (zero waste) ด้วยนะ ซึ่งเป็นสติกเกอร์รับรองที่ไม่ใช่ใครก็แปะได้ เพราะกว่าจะได้มา ก็ต้องผ่านการตรวจสอบมาตรฐานก่อน

ภายในร้านตกแต่งด้วยโทนสีไม้อบอุ่นสบายตา ตรงกับคอนเซปของร้านที่อยากให้คาเฟ่แห่งนี้เปรียบเสมือน ‘โชว์รูม’ ของเมือง สถานที่ที่มาแล้วก็จะได้สัมผัสทั้งธรรมชาติและเรียนรู้เรื่อง zero waste ไปพร้อมๆ กัน

นอกจากอาหารที่อร่อยถูกปากแล้ว การเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมคืออีกความพิเศษของคาเฟ่แห่งนี้ เป็นคาเฟ่ที่กรีนมาก ของที่ใช้ตกแต่งบนจานอาหารยันที่รองตะเกียบล้วนเป็นวัสดุจากธรรมชาติที่สามารถย่อยสลายได้ ส่วนวัตถุดิบที่ใช้ตกแต่งบนจานก็ไม่ได้มาจากไหนไกล มาจากสวนหลังร้านนี่เอง 

อ้อ คาเฟ่นี้มีกฎไม่ให้บริการซื้อกลับบ้านด้วยนะ ถ้าลูกค้าไม่นำกล่องอาหารส่วนตัวมาเอง

แล้วจัดการขยะเศษอาหารยังไง? คาเฟ่นี้เริ่มจัดการขยะตั้งแต่ต้นทางเลยนะ ก่อนปรุงอาหารพนักงานจะถามลูกค้าก่อนเสมอว่าอยากได้ข้าวไซส์ไหนที่กินอิ่มพอดี เพื่อลดขยะเศษอาหาร แต่ถ้ามีเศษอาหารเกิดขึ้น ไม่ว่าจะจากลูกค้าหรือวัตถุดิบที่ใช้ ทางร้านก็จะนำไปทำปุ๋ยอินทรีย์ด้วยถังย่อยเศษอาหารที่ทางเมืองให้การช่วยเหลือในการจัดซื้อ โอโห เรียกได้ว่า จัดการขยะได้อย่างครบวงจรจริงๆ







💚 สถานที่ท่องเที่ยวที่เต็มไปด้วย ‘ขยะ’ Zero Waste Center

อ่านแล้วอย่าเพิ่งตกใจ นี่ไม่ใช่สถานที่ที่สกปรกจนเต็มไปด้วยขยะนะ แต่เป็นศูนย์การเรียนรู้ที่มีวิวด้านหลังเป็นภูเขาลูกใหญ่ ภายในพื้นที่เปิดให้ผู้คนจากทั้งในและนอกเมืองมาเรียนรู้ปรัชญาของ zero waste เรียนรู้การจัดการขยะ และตระหนักถึงปัญหาปริมาณขยะที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน

ที่นี่เปรียบเสมือนสถานีขยะที่ภายในเต็มไปด้วยขยะที่ถูกแยก จัดระเบียบ และแปะป้ายบอกจุดแยกไว้อย่างดี เช่น กล่องกระดาษ หนังสือพิมพ์ ขวดพลาสติก กระป๋อง เป็นต้น จุดนี้ถือเป็นสถานีขยะแห่งเดียวในเมือง และขยะแทบทุกประเภทจะถูกนำส่งมาที่นี่ (ยกเว้นขยะประเภทอินทรีย์ที่จะมีนโยบายให้ชาวเมืองจัดการโดยเครื่องย่อยที่บ้าน) เท่าที่สังเกตดู สถานีขยะนี้แยกประเภทขยะไว้ดีและมีระเบียบมากๆ 

ที่นี่ไม่ใช่แค่จุดแยกขยะอย่างเดียว แต่เป็นสถานที่ที่เป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ด้วย เพราะศูนย์แห่งนี้มีคอร์สที่ชื่อว่า ‘INOW’ เป็นคอร์สให้ความรู้นักท่องเที่ยวหรือผู้สนใจได้สัมผัสและทดลองใช้ชีวิตจริงในชนบทแบบ zero waste ที่เป็นการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ชุมชน และเชิงอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยในคอร์สจะมีคนมาให้ความรู้เรื่องการแยกขยะแบบฉบับชาวเมืองคามิคัตสึด้วยนะ 

เข้าคอร์สทีก็ได้ความรู้ติดตัวเรื่องวิธีคัดแยกขยะกลับมาเยอะเลย แต่โรงกำจัดขยะของญี่ปุ่นและไทยยังต่างกันอยู่บ้าง ทำให้วิธีแยกขยะบางอย่างไม่สามารถปรับใช้ที่บ้านเราได้ทั้งหมด 100% อย่างไรก็ดี วิธีการแยกขยะที่คามิคัตสึถูกแบ่งประเภทไว้ประมาณนี้

  • พลาสติก (แยกได้อีก 2 ประเภท คือ สะอาดและปนเปื้อน)

  • กระดาษ (แยกได้อีก 9 ประเภท คือ cardboard, pure paper, mixed paper, กระดาษหนังสือพิมพ์, กระดาษนิตยสาร, carton pack แบบไม่เคลือบด้านใน, carton pack แบบมีเคลือบด้านใน, กระดาษม้วนแบบนิ่ม, และกระดาษม้วนแบบแข็ง)

  • แก้ว (แยกได้อีก 2 ประเภท คือ ขวดแก้วใสและขวดแก้วสี)

  • ฝาขวด (แยกได้อีก 2 ประเภท คือ ฝาขวดพลาสติกและฝาเหล็ก)

  • ขยะที่รีไซเคิลไม่ได้ ต้องส่งเผา เช่น หนังยาง, ขยะเสี่ยงติดเชื้อเช่น มาส์ก, ทิชชู่ใช้แล้ว, 

  • กระป๋องสเปรย์

  • กระป๋องอลูมิเนียม 

  • Fabric หรือผ้าต่าง ๆ 

  • ถ่าน

  • หลอดไฟ

  • ของใช้ที่วางใช้ได้อยู่ (เปิดให้นำไปใช้ต่อได้)

  • ซองกันชื้น

พอเห็นจุดคัดแยกขยะด้วยตาแล้วเนี่ย ยอมรับเลยว่าตะลึงและน่าชื่นชมมากๆ ทั้งในด้านความสะอาด ปลอดกลิ่น และความเป็นระเบียบเรียบร้อย ไหนจะใช้ของตกแต่งที่ก็ zero waste สมชื่อจริงๆ เช่น หน้าต่างเก่า ประตูเก่า ผ้าม่านเก่า เป็นต้น ให้มู้ดอบอุ่น และทำให้เรารู้สึกว่า เอ้อ ใช้ซ้ำก็สวยไปอีกแบบดีเหมือนกัน

ศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้เป็นเครื่องสะท้อนชั้นดีว่า คามิคัตสึ จริงจังกับการจัดการขยะมากขนาดไหน สมกับเป็นเมืองแรกที่ประกาศว่าจะเดินหน้าเป็นเมืองไร้ขยะ และมีเป้าหมายลดขยะจากการเผาและฝังกลบจากเมืองจริงๆ เพราะ 20% ของขยะที่เมืองคามิคัตสึไม่สามารถรีไซเคิลได้ คือขยะที่ต้องส่งเผานั่นเอง

 

💚 หลับสักตื่นที่ HOTEL WHY โรงแรมสไตล์ zero waste 

‘ทำไม’ คือปรัชญาที่โรงแรมแห่งนี้ยึดมั่นและให้ความสำคัญจนหยิบมาตั้งเป็นชื่อที่พัก ที่มาที่ไปของคอนเซ็ปนี้ คือ ชวนผู้คนตั้งคำถามว่าเราซื้อของไปทำไม ขายของไปทำไม ผลิตของไปทำไม และชวนให้ทุกคนเรียนรู้ที่จะตั้งคำถามว่า ‘ทำไม’ เพื่อจุดประกายสู่สังคมปลอดขยะอย่างยั่งยืน 

HOTEL WHY คือโรงแรมขนาดเล็กเพียง 4 ห้อง ตกแต่งด้วยสไตล์ zero waste ที่น่ารักมาก เช่น ใช้หน้าต่างเก่าตกแต่ง ใช้ผ้าเก่ามาเย็บกันรวมเป็นผ้าม่าน ให้ไวบ์วินเทจสุดๆ โดยรวมแล้วเป็นโรงแรมที่น่ารักและโคซี่มากๆ บรรยากาศอบอุ่นและเต็มไปด้วยสิ่งของใช้ซ้ำได้ที่ลดการผลิตขยะ ไม่ไกลโรงแรมยังเป็นวิวผืนป่าและหุบเขาอีกต่างหาก วิวสวยแบบนั่งกินข้าวไปชมไปจนลืมวันเวลาได้เลย 

อาหารก็อร่อยมาก แต่โรงแรมไม่ได้มีครัวทำเองนะ ใช้วิธีการติดต่อร้านอาหารในเมืองให้ส่งอาหารมาให้แขกที่เข้าพักด้วยบรรจุภัณฑ์แบบไร้พลาสติกแทน กลายเป็นมื้ออาหารที่ปลูกด้วยมือในฟาร์มของชุมชน และปรุงด้วยใจของชาวเมืองอย่างแท้จริง

นอกจากจะเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว ดูไปดูมา การมาที่คามิคัตสึก็ดูเป็นการท่องเที่ยวที่ดีต่อชุมชนด้วยเหมือนกัน 

ความกรีนยังไม่หมดเพียงเท่านี้ ภายในโรงแรมมีระบบให้ตัดสบู่สำหรับใช้ล้างมือในห้องเองด้วย ก็คือ ให้ตัดไปใช้ในปริมาณที่พอดีกับที่เราต้องการ จะได้ไม่สร้างขยะ นอกจากนี้ ภายในห้องพักจะมีถังขยะเล็กๆ ไว้ให้เราแยกขยะ 6 ถังด้วย คือ ขยะที่เลอะแล้วเช่นพลาสติกใช้แล้ว, ขยะพลาสติกสะอาด, ขวดเครื่องดื่มต่างๆ, ขยะส่งเผา, ขยะกระดาษและเหล็ก, และขยะออร์แกนิค ซึ่งในตอนเช้าเนี่ย ตื่นมาเราก็จะต้องหิ้วเจ้าตะกร้าขยะนี้ออกไปแยกขยะด้วย เป็นกิมมิกน่ารักๆ ที่ทั้งสนุกและได้เรียนรู้การแยกขยะไปในตัว 

ภายในโรงแรมมีถังทำปุ๋ยเพื่อจัดการขยะออแกนิคหรือขยะอินทรีย์ด้วยนะ ครบวงจรสุดๆ ไปเลย อยากจะรีวิวว่าการได้พักผ่อนและเป็นแขกโรงแรมนี้เต็มไปด้วยความประทับใจจนอยากบอกต่อจริงๆ เช้าที่ได้ตื่นมาดูวิวทิวเขาพร้อมฟังเสียงนก จิบชาหมักของเมืองที่หมักด้วยวิถีชาวบ้านที่แทบไม่ใช้เครื่องมือช่วยเลย ใครอยากลองเปลี่ยนบรรยากาศในเมือง ต้องแนะนำให้มาลองเมืองคามิคัตสึ จ.โทคุชิมะจริงๆ 

หรือถ้าใครที่ไม่ถนัดสายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เราก็ยังอยากแนะนำให้มาอยู่ดีนะ เพราะธรรมชาติเมืองนี้สวยมากจริงๆ แถมยังเป็นเมืองต้นกำเนิด ‘อาวะโอโดริ’ การระบำญี่ปุ่นที่โด่งดังมาก เรียกได้ว่ามีทั้งสเน่ห์ทางธรรมชาติและทางวัฒนธรรม เหมาะแก่การหนีจากโลกความจริงมามาพักผ่อนชาร์จแบตชีวิตที่สุดเลย

 

💚 ‘อีโรโดริ’ พืชใบประดับอาหารชื่อดังที่นำ SDGs มาปรับใช้

นอกจากสถานที่ท่องเที่ยวแล้ว เมืองคามิคัตสึยังส่งออก ‘อีโรโดริ’ สินค้าพืชใบประดับอาหารชื่อดังของแบรนด์ซีมะโมะโนะของญี่ปุ่น ซึ่งคำว่าซึมะโมะโนะโดยพื้นฐานก็หมายถึงดอกไม้ ใบไม้ หรือพืชภูเขาที่แต่งแต้มสีสันสวยงามให้อาหารญี่ปุ่น

จุดเริ่มต้นของธุรกิจนี้ เริ่มจากการมองเห็นว่าเมืองคามิคัตสึเต็มไปด้วยต้นสนและตั้งต้นว่าอยากจะให้ต้นสนสร้างรายได้ให้ชาวบ้านในพื้นที่ แต่ช่วงแรกๆ ก็ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะต้นสนสร้างรายได้ไม่ดี จนประชากรเริ่มย้ายออกไปทำงานต่างเมือง 

 

อย่างไรก็ดี ซึมะโมะโนะไม่ย่อท้อที่จะสร้างผลิตภัณฑ์และรายได้ให้ชุมชนนี้ และเริ่มเกิดไอเดียเปลี่ยนแปลงพัฒนาพื้นที่ จนเมืองคามิคัตสึเริ่มส่งเสริมให้เกษตรกรเพิ่มชนิดพืชที่ปลูกชนิดอื่นที่ไม่ใช่ต้นสนเท่านั้น โดยเน้นพืชผักใบที่มีน้ำหนักเบาเป็นหลัก ซึ่งนั่นสามารถสร้างรายได้ให้เกษตรกรจำนวนมาก จนคนเริ่มย้ายกลับมา 

กระทั่งปี 2529 ธุรกิจพืชใบประดับอาหารแบรนด์ซึมาโมโนะก็เริ่มต้นขึ้น และส่งออกสินค้าให้ร้านอาหารญี่ปุ่นนอกประเทศมากมาย รวมถึงร้านอาหารญี่ปุ่นในประเทศไทยด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ ยังมีการสนับสนุนให้ปลูกพืชที่หลากหลาย ไม่ใช่เพียงต้นสนที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและส่งผลกระทบต่อสรรพสัตว์บนเขา เช่น ส่งเสริมให้ปลูกต้นเมเปิล-ต้นซากุระ ทดแทน นอกจากนี้ เกษตรกรยังหาทางแปรรูปต้นสนให้เป็นเส้นด้าย เสื้อ ผ้าพันคอ หรือก็คือ หาวิธีเพิ่มมูลค่าให้ต้นสน 

เรื่องราวอันน่าประทับใจนี้จึงสอดคล้องกับหลัก SDGs เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเป้าหมายการส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง ครอบคลุมและยั่งยืน การจ้างงานเต็มที่ มีผลิตภาพ และการมีงานที่เหมาะสมสำหรับทุกคน เพราะธุรกิจนี้เพิ่มผลผลิตและรายได้ ขยายรายได้จากการแปรรูปไม้ และสร้างงานที่เหมาะสำหรับผู้สูงอายุ 


 

- ตัวเมืองโทคุชิมะ -

💚 โรงแรมที่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม

นอกเหนือจากเมืองคามิคัตสึ อย่างที่บอกไปก่อนหน้าว่าโทคุชิมะมีพื้นที่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและนำหลัก SDGs มาปรับใช้อีกหลายแห่งนะ โรงแรมในเมืองก่อนหน้าก็ไม่ใช่เจ้าเดียวที่พยายามลดปัญหาสิ่งแวดล้อมบนโลกของเรา

เช่น โรงแรม Daiwa Roynet Hotel Tokushima Ekimae ที่ก็เป็นอีกจุดที่เราเข้าพัก ซึ่งภายในโรงแรมมีมาตรการลดใช้น้ำและพลังงานด้วยนะ แถมยังใช้วัตถุดิบที่ผลิตภายในจังหวัดมาปรุงอาหารเช้า และมีการคำรวณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างต่อเนื่องด้วย เก๋สุดๆ โรงแรมนี้เก็บรายละเอียดยันตู้เย็นเลยนะ เพราะที่ตู้เย็นยังมีสวิตช์เปิดปิดที่ช่วยให้คนประหยัดไฟมากยิ่งขึ้น

 

ส่วนที่พักอีกที่ คือ Hotel Sunroute Tokushima ซึ่งก็เป็นโรงแรมที่เดินทางสะดวก มีบ่อน้ำพุร้อนธรรมชาติภายในโรงแรมด้วย และมีมาตรการลดปริมาณขยะ โดยโรงแรมจะไม่เตรียมผลิตภัณฑ์ใช้แล้วทิ้งไว้ให้ในห้องพัก แต่จะใช้วิธีตั้งโซนให้ลูกค้ามาหยิบของที่ต้องการใช้บริการเอง ง่ายๆ ก็คือ จะใช้ค่อยมาหยิบ จะได้ไม่ทิ้งเสียเปล่าหากตั้งไว้ในห้องพักแต่ลูกค้าไม่ต้องการใช้ผลิตภัณฑ์นั้นๆ ใครหลายคนอาจไม่ชิน แต่นี่อาจเป็นห้องทดลองให้เราได้เรียนรู้การปรับพฤติกรรมเล็กๆ ที่อาจมีผลยิ่งใหญ่ต่อสิ่งแวดล้อมได้เหมือนกัน

 

💚 เรือไฟฟ้ายุคใหม่ เรือทัวร์รอบเกาะเฮียวตัน

อีกไฮไลท์สำคัญ คือ เรือทัวร์รอบเกาะเฮียวตันซึ่งเป็นเรือไฟฟ้าทั้งระบบ เป็นเรือที่ติดตั้งระบบบังคับทิศทางเรือยุคใหม่ HARMO ที่ทำให้เราได้ล่องเรือชมวิว จ.โทคุชิมะแบบไม่สร้างมลพิษทางอากาศและไม่รบกวนเหล่าสัตว์ใต้น้ำ

บรรยากาศการล่องเรือดีมากเลย น้ำใสสุดๆ ใสจนมองลงน้ำไปก็สามารถเห็นกระเบนแบบใกล้ๆ ตัวเป็นๆ เลยนะ ระบบนิเวศก็ดีมาก มีนกเป็ดน้ำและนกนางนวลอยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลตลอด ความสมบูรณ์นี้ยิ่งทำให้รู้สึกเลยว่า เรือไฟฟ้านี่ดีจริงๆ เพราะไม่รบกวนน้องสัตว์เลย

โครงการใช้เรือไฟฟ้าท่องเที่ยวเป็นหนึ่งในแผนแห่งเมืองอนาคต SDGs ของเมืองโทคุชิมะด้วยนะ รอติดตามข่าวดีจากทาง จ.โทคุชิมะเลย ว่าเรือแห่งอนาคตนี้จะเปิดให้ใช้บริการแบบเต็มรูปแบบเมื่อไหร่ แอบกระซิบว่า คุณเชอรี่ชอบมาก ได้ชมบรรยากาศแบบชิวๆ โดยไม่สร้างมลพิษเพิ่ม แฮปปี้สุดๆ เลย

 

💚 ร้านอาหารเองก็ SDGs นะ

เรียกได้ว่ากินอะไรก็อร่อยถูกปากไปหมดเลย เดี๋ยวจะมารีวิวแต่ละร้านที่ได้ไปลองกินนะ ร้านแรกเลย Tsukigatani onsen tsukinoyado เป็นร้านที่มีนโยบายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เสิร์ฟอาหารที่ใช้วัตถุดิบในท้องถิ่น และตั้งอยู่ใจกลางบรรยากาศธรรมชาติที่ผ่อนคลายจากความวุ่นวาย แถมยังมีให้แช่น้ำพุร้อนด้วย ปังมาก

 

 

ส่วนสายปลาดิบก็ห้ามพลาดร้าน Oshio Shokudo ตั้งอยู่ที่สถานีริมทางคุรุคุรุนารูโตะ เป็นร้านที่อาหารคุ้มกับราคามากๆ ปลาดิบสด อร่อย คุณภาพดี สมกับเป็นของกินจาก จ.โทคุชิมะ

 

ยังไม่หมดนะ มีร้าน AWA no irodori bizan ซึ่งเป็นร้านอาหารในโรงแรม Hotel Sunroute Tokushima ที่ก็เสิร์ฟอาหารที่มีวัตถุดิบท้องถิ่นตามฤดูกาล แถมร้านยังใช้ไก่ อาวะโอโดริ ซึ่งเป็นแบรนด์ไก่ท้องถิ่นประจำจังหวัดเหมือนกัน

 

 

ร้านสุดท้าย คือ ร้าน Asa Hiru Tokudoki ban gohan DOOR! เป็นอีกร้านที่มีแนวคิดอยากสนับสนุนเกษตรกรท้องถิ่นและการปลูกพืชแบบออร์แกนิก ทางร้านเล่าด้วยว่าร่วมมือกับเกษตรกรของจังหวัดเพื่อซื้อวัตถุดิบและเครื่องปรุงที่ต้องใช้ในร้าน นอกจากนี้ วัสดุตกแต่งภายในร้านก็เป็นของรียูสที่นำมาใช้ซ้ำด้วยนะ เช่น หน้าต่างเก่า ประตูเก่า เป็นต้น

สำหรับใครที่สงสัยว่า การใช้วัตถุดิบจากท้องถิ่นมันดีต่อสิ่งแวดล้อมยังไงนะ ต้องเล่าก่อนว่าการใช้วัตถุดิบในพื้นที่ประกอบอาหารเนี่ยทั้งสดใหม่กว่า สนับสนุนเศรษฐกิจท้องถิ่นมากกว่า และส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าการกินสิ่งของจากต่างถิ่นด้วยนะ เพราะอาหารในพื้นที่ก็ไม่ต้องผ่านการขนส่งหลายกิโล ไม่ว่าจะทางรถบรรทุก รถไฟ หรือเครื่องบิน ที่ก็ล้วนมีส่วนในการผลิตคาร์บอนฟุตพริ้นท์ทั้งนั้น

 

💚 ที่น่าเที่ยวน่าถ่ายรูปในโทคุชิมะ 

จบร้านอาหารก็ต้องตามด้วยที่เที่ยวเช็คอินถ่ายรูปกันต่อนะ ใน จ.โทคุชิมะยังมีสถานที่สวยๆ นอกจากที่เล่าไปตอนแรกอีกเยอะเลย โดยเฉพาะ Wander Naruto หรือชื่อไทยก็คือ น้ำวนนารูโตะ เป็นจุดชมวิวน้ำวนชื่อดังเลย เราสามารถล่องเรือเข้าไปใกล้ๆ เพื่อชมจุดกระแสน้ำวนได้ด้วย ของจริงคือสวยมากๆ ถ่ายรูปมุมไหนก็สวยไปหมด

 

ไหนจะสะพานเถาวัลย์ Vine Bridge in the Iya Valley ที่เป็นสะพานสวยๆ กลางป่าที่ทำให้เราได้เห็นวิวของหุบเขาแบบชัดๆ และสามารถซึมซับบรรยากาศใกล้ชิดอีกด้วย บรรยากาศดีสุดๆ

 

ถ้าไม่ใช่ที่เที่ยวธรรมชาติ จังหวัดนี้ก็มีสถานที่ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอยู่เหมือนกันนะ เช่น ศิลปะการแสดง Awa Odori Kaikan ซึ่งเป็นศิลปะการแสดงแบบดั้งเดิมที่มีอายุกว่า 400 ปี มีต้นกำเนิดจากจังหวัดนี้ และโด่งดังมากๆ ในประเทศญี่ปุ่น รีวิวจากการดู คือ นักแสดงฝีมือดีมากๆ มีการเชิญชวนและสอนให้ผู้ชมร่วมเต้น พอลองเต้นจริงๆ ก็ยากมากเลย แต่ก็เป็นงานแสดงที่สนุก ดูเพลิน และควรค่าแก่การมามากๆ 

 

นอกจากนี้ ยังมีพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์เมืองไอซูมิ Ai no Yakata เป็นพิพิธภัณฑ์ที่ใช้คฤหาสถ์ของพ่อค้าคามดิมมาเป็นสถานที่เรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ และยังเปิดให้เรียนรู้วิธีการผลิตสีครามอาวะ เป็นการย้อมสีจากธรรมชาติที่ผลิตใน จ.โทคุชิมะโดยการหมักใบครามที่เรียกว่า ‘อาวะไอ’ ด้วยนะ สีน่ารักมาก เป็นฟ้าตุ่นๆ ที่สวยมากจริงๆ

 

 

อ่านถึงตรงนี้ หากใครมีโอกาสเราก็อยากจะเชิญชวนให้ลองแวะมาที่ จ.โทคุชิมะ  สถานที่เที่ยวเมืองรองของญี่ปุ่นสักครั้งในชีวิต อยากชวนมาให้ลองสัมผัสประสบการณ์ไกลเมืองใหญ่และปล่อยให้ใจสงบไปกับเมืองแห่งนี้ เมืองที่อนุญาตให้เราโอบกอดธรรมชาติไปพร้อมๆ กับการรักโลก และอนุญาตให้เราได้พักกายพักใจแบบเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

 

ว่ากันว่าปลายทางที่สวยงามอาจแลกมาด้วยความลำบาก จ.โทคุชิมะ ก็อาจเป็นหนึ่งในนั้น ความท้าทายสำคัญของการมาเยือนที่แห่งนี้ คือ เมืองนี้อาจเดินทางเข้าไปไม่ง่ายเท่าไหร่

แต่เชื่อเถอะว่าไม่มีอะไรยากเกินเราทำได้ และเชื่อเถอะว่าประสบการณ์ที่ได้รับกับมามันคุ้มแน่ ไม่ว่าจะเป็นสายเที่ยวสไตล์ไหนก็ตาม :) 

 

#LittleBigGreen #AsGreenAsYouCan #Tokushima 

Quiz

Sharing Green Shop

Sharing Your Green Shop

Sharing your green shop
มาแนะนำร้านกรีนสุดโปรดของคุณกันเถอะ

มาช่วยกันแชร์ข้อมูลของร้านกรีน ๆ ที่คุณ รู้จัก ให้กลายเป็นคอมมูนิตี้ที่ทุกคนสามารถ ค้นหาร้านกรีน ๆ ที่อยู่ใกล้ตัวคุณ

เริ่มเลย!

Shade of Green

คุณคิดว่าตัวเองมีความกรีนแค่ไหน?

Play Quiz!