polarbears
K
Knowledge

รู้จักหมีขั้วโลกให้มากขึ้นกับ little big green

รู้จักหมีขั้วโลกให้มากขึ้นกับ little big green

เนื่องในวัน International Polar Bears เรามาทำความรู้จักกับหมีขาวหรือหมีขั้วโลกให้มากขึ้นกัน 

 

ชื่อ

ชื่อทางวิทยาศาสตร์: Ursus maritimus แปลว่า หมีทะเล

 

ร่างกาย

ขนและผิวหนัง: 

1. รู้ไหมว่าขนของหมีขั้วโลกไม่ได้เป็นสีขาว แต่เป็นสีใส ปกคลุมทั่วผิวหนังสีดำ เพื่อทำให้แสงแดดสามารถทะลุผ่านไปยังผิวหนังสีดำได้ ที่เห็นเป็นสีขาว เกิดจากการสะท้อนแสงกับเวลาอยู่ท่ามกลางน้ำแข็งหรือหิมะสีขาว ๆ 

2. สีดำมีคุณสมบัติในการดูดซับความร้อน บวกกับชั้นไขมันที่หนาตั้งแต่ 7 - 10 เซนติเมตร ทำให้หมีขั้วโลกสามารถกักเก็บความอบอุ่นได้อย่างยาวนาน 

3. ส่วนที่เราเห็นว่าบางที หมีขั้วโลกจะเห็นขนมีสีออกเหลือง ๆ ก็เป็นเพราะไขมันจากการกินสัตว์ เช่น แมวน้ำ เป็นต้น 

4. แม้ว่าขนที่หนานุ่มจะมีคุณสมบัติในการกักเก็บความร้อน แต่เวลาอยู่ในน้ำ หมีขั้วโลกจะอาศัยชั้นไขมันหนา ๆ มากกว่าขนที่เปียก 

5. หมีขั้วโลกเพศผู้อาจหนักได้ถึง 800 กิโลกรัม (เป็น 2 เท่าของเพศเมีย) สามารถมีลำตัวยาวได้ถึง 3 เมตร จัดเป็นสัตว์กินเนื้อที่ใหญ่ที่สุดในโลก

 

เท้าและกรงเล็บ:

1. เท้าหมีมีขนาดที่ใหญ่ได้ถึง 30 เซนติเมตร การที่มีเท้าที่ใหญ่จะช่วยในการทรงตัวบนพื้นน้ำแข็งบาง ๆ เพราะสามารถกระจายน้ำหนักได้ดี 

2.เมื่ออยู่ในน้ำ หมีขั้วโลกเป็นหมีชนิดเดียวที่ใช้เท้าหน้าเท่านั้นในการทำหน้าที่เป็นไม้พาย ขับเคลื่อนตัวเอง ส่วนเท้าหลังทำหน้าที่เป็นหางเสือในการ

3. แผ่นสีดำบนอุ้งเท้าจะมีตุ่มเล็ก ๆ ชื่อ papillae ที่ป้องกันไม่ให้ลื่นสไลด์ไปกับน้ำแข็งลื่น ๆ 

4. กรงเล็บของหมีขั้วโลกอาจมีความยาวถึง 5 เซนติเมตร มีประโยชน์ในการจับเหยื่อ

 

อวัยวะอื่น ๆ:

1. หมีขั้วโลกมีประสาทกับรับกลิ่นที่ดีมาก สามารถได้กลิ่นเหยื่อในระยะ 1 กิโลเมตรได้

(แหล่งที่อยู่ และแนวโน้มของจำนวนหมีขั้วโลก)

ถิ่นที่อยู่:

1. คาดว่าปัจจุบันมีหมีขั้วโลกอยู่ประมาณ 26,000 ตัว กระจายอยู่ใน 19 แหล่งใน Arctic ซึ่งครอบคลุม 4 โซนที่มีน้ำแข็ง (แบ่งเพื่อดูแลและติดตามสถานะของทั้งหมีขั้วโลก พื้นที่และปัจจัยที่จะส่งผลกระทบกับหมีขั้วโลก)

1.1. Arctic คือ มีพื้นที่ใน 5 ประเทศคือ Canada, Alaska (USA), Russia, Greenland (Denmark) และ Iceland โดยกว่า 60% อยู่ในแคนาดา

  1. ถึงจะบอกว่ามีแหล่งย่อย ๆ แต่การเดินทางของหมีขั้วโลกไม่มีพรมแดน เพราะ 1. พวกมันสามารถเดินทางไกลได้ เพื่อหาที่อยู่และอาหาร 2. แผ่นน้ำแข็งมีการเปลี่ยนแปลงตลอด เพิ่งขึ้น ลดลง หรือเคลื่อนย้ายตัว 3. มีการพบว่าเมื่อลูกหมีต้องห่างจากแม่ มันจะเดินทางหาบ้านใหม่ในระยะทางที่ไกลกว่า 1000 กิโลเมตร (แต่ยังไม่รู้สาเหตุที่แน่ชัด) 3. ปกติจะอยู่บนแผ่นน้ำแข็ง แต่เมื่อน้ำแข็งละลายมากขึ้น ทำให้มันต้องเดินทางไปอยู่บนพื้นดินมากขึ้น (ซึ่งในหลายที่เป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์ด้วย)

  2. หมีขั้วโลกชอบเคลื่อนไหวน้อย แม้ว่าจะสามารถวิ่งได้เร็วเท่าม้า (40 กม./ชม.) แต่ชอบเดินช้า ๆ มากกว่า ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะมันใช้พลังงานเป็นสองเท่าเมื่อเทียบกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิตอื่น และใช้พลังงานมากกว่า 13 เท่าเมื่อเทียบกับตอนที่อยู่นิ่ง ๆ เพราะฉะนั้น เราเลยชอบเห็นมันอยู่นิ่ง ๆ รอคอยอย่างใจเย็นให้อาหารหรือแมวน้ำโผล่ขึ้นมาจากช่องน้ำแข็งเองมากกว่าที่จะไล่ตาม

 

 

วงจรการใช้ชีวิตของหมีขั้วโลก

  1. ผสมพันธุ์ (Mating): Summer: ช่วงนี้เป็นช่วงที่อุณหภูมิเริ่มสูงขึ้น กลางวันมีระยะนานขึ้น น้ำแข็งเริ่มละลาย หมีขั้วโลกเพศผู้อายุ 6 - 10 ปีจะเริ่มเดินทางตามหาเพศเมียอายุ 4 - 6 ปีผ่านกลิ่นการเดินทางที่รอยเท้าของเพศเมียได้ทิ้งเอาไว้ 

เมื่อผสมพันธุ์แล้ว ทั้งสองจะอยู่ด้วยกันไม่กี่วัน แล้วตัวผู้ก็ไปตามทางของตัวเองต่อไป ส่วนตัวเมีย ไข่ที่ผสมแล้วจะยังไม่เกิดการฝังตัว (Delayed Implantation) แต่จะเริ่มตั้งท้องเมื่อถึงฤดู Fall และเมื่อเธอมีไขมันเพียงพอที่จะทำให้ตัวเองและลูกสามารถอยู่รอดได้ในช่วงเก็บตัว (denning) จึงต้องออกเดินทางหาอาหารเพื่อสะสมไขมัน

  1. สร้างที่เก็บตัว (Denning): Fall & Winter: แม่หมีจะทำการสร้างที่เก็บตัวโดยหาที่เหมาะ ๆ เพื่อทำการขุดน้ำแข็งให้เป็นโพรงขนาดพอดีตัว แล้วรอให้หิมะตกลงมาปิดปากทางเข้า den จะเป็นที่ที่เธอคลอดลูกหมีและเลี้ยงดูจนกว่าจะถึง Spring

  2. ให้กำเนิด (Birthing): Winter:  ส่วนใหญ่ลูกหมีมักจะคลอดออกมาในช่วงเดือนธันวาคม ปกติแล้วแม่หมีจะให้กำเนิดลูกประมาณ 1 - 3 ตัว โดยมักจะได้ลูกแฝด

ครอบครัวหมีจะยังอยู่ใน den ต่ออีกเป็นเวลาประมาณ 4 - 8 เดือน เพราะลูกหมียังตัวเล็กมาก มองไม่เห็น ไม่ได้ยินเสียง ไม่มีฟัน และมีเพียงขนนุ่มบาง ๆ ปกคลุมเท่านั้น ลูกหมีจะอาศัยการซุกตัวเข้ากับแม่หมีเพื่อความอบอุ่น และกินนมแม่เป็นอาหาร ซึ่งมีไขมันสูงถึง 31% ในขณะเดียวกัน แม่หมีก็ต้องเก็บพลังงานและไขมันไว้เลี้ยงลูก เพราะไม่สามารถออกไปหาอาหารโดยทิ้งลูกไว้ได้

  1. ออกจากที่เก็บตัว (Emerging from the den): Spring: ครอบครัวหมีจะออกจาก den เมื่อลูกหมีแข็งแรงพอที่จะใช้ชีวิตข้างนอกได้ สามารถเดินบนน้ำแข็งได้คล่อง

  2. เติบโต (Growing Up): ลูกหมีจะเรียนรู้การเอาชีวิตรอดกับแม่จนอายุ 2 ปีครึ่ง แล้วก็จะจากครอบครัวไปใช้ชีวิตของตัวเอง แรก ๆ ที่อยู่อย่างโดดเดี่ยวจะต้องเผชิญกับอันตรายมากมาย ไม่ว่าจะเป็นจากการไล่ล่าของหมาป่า หมีขาวเพศผู้วัยผู้ใหญ่ มนุษย์ หรือแม้แต่การที่ไม่สามารถหาอาหารได้

 

(Starving polar bear pounces on a seal | The Hunt - BBC, https://youtu.be/0mgnf6t9VEc)

อาหารการกิน

  1. รู้หรือไม่ว่า เรามักจะเข้าใจว่าหมีขั้วโลกเป็นสัตว์นักล่าที่เก่ง แต่ความจริงแล้วมันสามารถปิดจ็อบได้เพียง 2% เท่านั้น

  2. อาหารโปรดคือแมวน้ำ เต็มไปด้วยไขมันและให้แคลอรี่เยอะพอในการอยู่รอด วิธีการล่าคือมันจะดมหาตำแหน่งของแมวน้ำที่จะขึ้นมาหายใจผ่านรูที่เจาะไว้ แล้วไปดักรอ บางทีอาจจะนานเป็นชั่วโมงหรือเป็นวัน 

  3. ปกติหมีขั้วโลกจะเลือกกินเฉพาะส่วนไขมันของแมวน้ำ ปล่อยให้ซากที่เหลือถูกจัดการโดยนักจัดการซาก เช่น หมาป่าหรือแร้ง

  4. ถ้าหาแมวน้ำกินไม่ได้ อาจจะกินอาหารอย่างอื่น เช่น วาฬเบลูก้า วอลรัส หรือซากสัตว์ แต่ไม่มีอาหารไหนที่ทดแทนโภชนาการจากแมวน้ำได้อยู่ดี 

  5. สิ่งที่จำเป็นสำหรับการล่าแมวน้ำคือแผ่นน้ำแข็ง เพราะการล่าแมวน้ำในน้ำเป็นเรื่องที่ยากเกินไป บางทีมันต้องเดินทางบนแผ่นน้ำแข็งหลายร้อยกิโลเมตรเพื่อตามหาแหล่งอาหาร 

(Hungry polar bear found wandering in Russia industrial city, https://phys.org/news/2019-06-hungry-polar-russia-industrial-city.html

ความเป็นอยู่ในปัจจุบัน

    หมีขั้วโลกถูกจัดเป็นสัตว์ที่มีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์สูง (Vulnerable) เราอาจจะได้เห็นภาพข่าวของหมีขั้วโลกที่ซูบผอม หรือหมีขั้วโลกที่หิวโซจนต้องหาอาหารในถิ่นที่มีผู้คนอาศัยอยู่ ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นด้วยปัจจัยต่าง ๆ คือ 

  1. สภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง (Climate Change) เป็นสาเหตุหลักที่ส่งผลกับการอยู่รอดของหมีขั้วโลก สิ่งที่เกิดขึ้นคือ น้ำแข็งละลายเร็วขึ้น ละลายนานขึ้น ส่งผลให้ 

    1. หาอาหารยากขึ้น: เพราะปกติแมวน้ำของโปรดมักจะหาได้บนบกหรือบริเวณแผ่นน้ำแข็ง พวกหมีต้องเดินทางไกลมากขึ้น ใช้พลังงานมากขึ้น แต่มีอาหารน้อย ทำให้ตัวซูบผอม

    2. มีลูกหมียากขึ้น: เพราะในการตั้งท้อง แม่หมีจะต้องมีไขมันสะสมมากพอที่จะเลี้ยงลูกได้ เมื่อขาดสารอาหารที่จำเป็น การมีลูกก็ยากขึ้น ทำให้เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ หรือต่อให้คลอดออกมาแล้ว การที่ลูกหมีได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ ก็ทำให้ไม่แข็งแรง อยู่รอดได้ยาก

  2. อุตสาหกรรมปิโตรเลียมที่คืบคลานเข้าไปใกล้: การผลิตนอกชายฝั่งที่เพิ่มขึ้น ก็ส่งผลกระทบในเรื่องของน้ำมันที่รั่วไหลมีโอกาสที่จะไปเปื้อนขนของหมี ทำให้การกักเก็บความอบอุ่นเป็นไปได้ยากขึ้น ต้องใช้พลังงานมากขึ้น, หมีขั้วโลกอาจจะได้รับสารพิษจากสัตว์น้ำที่กินเข้าไป, การทำ Seismic หรือการทำกิจกรรมอื่น ๆ อาจรบกวนการดำรงชีวิตของหมี 

 

เราจะช่วยหมีขาวได้อย่างไรบ้าง

ความเป็นอยู่ของหมีขั้วโลกถูกมองเป็นมาตรวัดว่าตอนนี้โลกเรามีปัญหาแค่ไหน มีการค้นพบว่า Arctic มีอัตราการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเป็น 2 เท่าของค่าเฉลี่ยโลก 

การที่ Arctic มีอุณหภูมิสูงขึ้นจนทำให้น้ำแข็งละลายมากขึ้น จะส่งผลมาถึงคนทั้งโลก เนื่องจากการละลายจะทำให้มีน้ำทะเลปริมาณมากขึ้น มีโอกาสเกิดน้ำท่วมพื้นดินได้ และอุณหภูมิของน้ำที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้การเดินทางของสิ่งมีชีวิตใต้น้ำต้องเปลี่ยนแปลงไป ส่งผลกับสัตว์อื่นที่กินเป็นอาหาร (รวมถึงมนุษย์เช่นกัน)

นอกจากนี้การที่เค้าต้องพบว่าบ้านหรือพื้นน้ำแข็งหายไปเรื่อย ๆ ลองคิดว่าเราเป็นหมีตัวนั้นที่ตื่นขึ้นมาแล้วพบว่าทางเดินหน้าบ้านถูกตัดขาด หาอาหารก็ไม่ได้ 

เราจะเห็นได้ว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้น หมีขั้วโลกไม่สามารถแก้ปัญหาด้วยตัวเองได้ แต่เรา มนุษย์ ผู้ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการทำให้เกิดอุตสาหกรรม เกิดสิ่งที่เรียกว่าสภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง เราสามารถช่วยกันแก้ไขได้ โดยอาจจะใช้ Good Life Goals เป็นตัวช่วย (อ่านเพิ่มได้ที่ https://littlebiggreen.co/blog/good-life-goals) คือ ทำตามเป้าหมายที่ 13 จริงจังเรื่องสภาพภูมิอากาศ (Act on Climate) โดย

1. เรียนรู้วิธีการแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศ: การหาต้นตอของปัญหาจะทำให้เห็นความเชื่อมโยงของกิจกรรมในชีวิตประจำวันกับผลกระทบที่เกิดขึ้น ได้ทำความเข้าใจและสามารถสร้างวิธีแก้ไขปัญหาในแบบฉบับของตัวเองขึ้นได้

2. เรียกร้องให้มีการใช้พลังงานหมุนเวียนมากขึ้นในประเทศ: เพราะอุตสาหกรรมพลังงานฟอสซิลใช้พลังงานมหาศาลและยังปล่อยก๊าสเรือนกระจกจำนวนมากตั้งแต่ต้นน้ำ-ปลายน้ำ

3. กินพืชผักผลไม้มากขึ้น กินเนื้อให้น้อยลง: เรื่องง่าย ๆ อย่างเรื่องการกินก็มีผลมากเหมือนกัน อุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์ปล่อยก๊าสเรือนกระจกเป็นจำนวนมาก ทั้งจากสัตว์ที่เลี้ยง ต้นตอของอาหารที่ใช้เลี้ยงปศุสัตว์

4. เดินและปั่นจักรยานมากกว่าการใช้รถยนต์ส่วนตัว: รถยนต์ส่วนมากยังต้องอาศัยเชื้อเพลิงฟอสซิลอยู่ และมีการปล่อยก๊าสเรือนกระจกจากไอเสียอีกด้วย แม้ว่าการเดินเท้าและปั่นจักรยานในเมืองจะเป็นเรื่องยาก แต่เราสามารถลองปรับเปลี่ยนได้โดยการ เดินให้มากขึ้นหรือเลือกใช้ขนส่งสาธารณะที่ส่งผลกระทบน้อยกว่า

5. เรียกร้องให้ผู้นำลงมือปฏิบัติเรื่องปัญหาสภาพภูมิอากาศอย่างเร่งด่วน: เพราะคนตัวเล็ก ๆ รวมตัวกันเปลี่ยนแปลงสามารถทำได้ แต่อาจจะต้องใช้พลัง ความพยายาม และเวลามาก การที่ผู้มีอำนาจเล็งเห็นปัญหาและสามารถออกนโยบายที่ดีต่อโลกได้ จะเป็นการช่วยลดเวลาลงอย่างมาก 

แม้ว่าหมีขั้วโลกจะอยู่ในที่ที่ห่างไกลออกไป แต่เราทั้งหมดล้วนอยู่บนโลกใบเดียวกัน สิ่งที่พวกเราทำในทุกวันมีผลกระทบไม่มากก็น้อย และผลนั้นจะย้อนกลับมาหาพวกเราทั้งหมด ถ้าเรายังไม่สามารถหยุดยั้งวิกฤติของสภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงได้ 

เรามาเปลี่ยนแปลงเพื่อหมีขั้วโลกและพวกเราทุกคนกันนะ :)

#littlebiggreen #AsGreenAsYouCan

 

references

https://www.worldwildlife.org/species/polar-bear

https://polarbearsinternational.org/polar-bears/

https://www.nationalgeographic.com/animals/mammals/p/polar-bear/

https://www.wwf.org.uk/learn/fascinating-facts/polar-bears

https://arcticwwf.org/species/polar-bear/threats/

https://arcticwwf.org/work/climate/

 

Quiz

Sharing Green Shop

Sharing Your Green Shop

Sharing your green shop
มาแนะนำร้านกรีนสุดโปรดของคุณกันเถอะ

มาช่วยกันแชร์ข้อมูลของร้านกรีน ๆ ที่คุณ รู้จัก ให้กลายเป็นคอมมูนิตี้ที่ทุกคนสามารถ ค้นหาร้านกรีน ๆ ที่อยู่ใกล้ตัวคุณ

เริ่มเลย!

Shade of Green

คุณคิดว่าตัวเองมีความกรีนแค่ไหน?

Play Quiz!