ชวนคุย “Abandoned Materials: ความยั่งยืนผ่านวัสดุที่ถูกมองข้าม”
K
Knowledge

ชวนคุย “Abandoned Materials: ความยั่งยืนผ่านวัสดุที่ถูกมองข้าม”

เมื่อต้นเดือน little big green ได้เปิดร้านลองเขียวดูที่ชั้น 3 สยามดิสคัฟเวอรี่ โดยในร้านมีการรวมสินค้าจากพันธมิตรภายใต้คอนเซปต์เดียวกันคือ ความยั่งยืนผ่าน “abandoned materials” หรือ “วัสดุที่ถูกมองข้าม”

 

ซึ่งคำว่า abandoned materials เป็นคำที่เกิดขึ้นมาระหว่างขั้นตอนการคิดออกแบบรูปแบบของร้าน เรามาดูกันดีกว่าว่า abandoned materials ที่เราได้คิดขึ้นมา มีคอนเซปต์อย่างไรบ้าง

 

ทำไมสินค้ารักษ์โลกต้องบอกว่าทำมาจากขยะ?

หากมีคนบอกเพื่อน ๆ ว่าเสื้อสวยตัวเก่งที่เค้าใส่อยู่นี้ทำมาจากขยะ เพื่อน ๆ จะรู้สึกอย่างไร?  

ผู้ประกอบการหลายเจ้าเล่าให้ฟังว่ามักจะกระแสตอบรับคือ หลายคนไม่มั่นใจที่จะซื้อไปใช้ (แต่ก็มีกลุ่มคนที่รู้สึกว่ามันดูรักษ์โลกขึ้นและซื้อไปใช้ก็มี) ซึ่งกลุ่มแรกส่วนมากจะเป็นคนไทย ส่วนคนในวงเล็บส่วนใหญ่จะเป็นชาวต่างชาติ

แต่สำหรับเราแล้ว เรารู้สึกว่า “มันไม่ใช่ขยะสักหน่อย มันจะเป็นขยะได้ยังไง ถ้าเราไม่ได้ทิ้งให้มันไปนอนกองบนภูเขาขยะ รอวันถูกพัดพาลงทะเลไปเฉย ๆ

 

“นี่มันวัสดุที่ถูกมองข้ามต่างหาก” 

บวกกับที่เรานึกถึงคอนเซปต์ของ Circular Economy เลยเกิดคำเรียกวัสดุที่นำมาใช้สร้างสรรค์สินค้าว่า “abandoned materials”

 

แล้ว Circular Economy คืออะไร?

(Linear Economy VS Circular Economy)

 

ปกติแล้วการผลิตแบบ mass production (ผลิตทีละเยอะ ๆ ระดับอุตสาหกรรม) มักจะเป็นแบบ linear economy คือ เอาทรัพยากรมา ผลิตสิ่งของ ใช้เสร็จแล้วก็ทิ้ง 

 

บริโภคกับใช้ (consume vs use)  

มันเข้าใจได้นะ ถ้าเราบอกว่า เราบริโภคอาหาร อาหารมันก็หายไป (อาจจะในท้องเรา) 

ส่วนคำว่าใช้ ก็เช่น เราใช้แก้วน้ำใส่น้ำ เราไม่ได้บริโภคแก้วน้ำ แก้วน้ำก็ยังเป็นแก้วน้ำ วัตถุดิบที่แปลงร่างมา  (เช่น ถ้าแก้วน้ำทำมาจากพลาสติก) พลาสติกก็ยังอยู่แบบนั้น ไม่ได้หายไปไหน แต่ทำไมเราถึงต้องทิ้งมันหลังจากใช้ไปได้แค่ครั้งเดียวล่ะ?

แสดงว่า จริง ๆ แล้ว ของใช้บางอย่างไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อพฤติกรรม single use หรือการใช้แบบครั้งเดียวทิ้ง (ละเว้นสำหรับสิ่งของที่ต้องการ hygienic มาก ๆ ไว้ อันนี้เข้าใจได้) 

 

จริง ๆ ก็เข้ากับคอนเซปต์ที่เราเจอมาตั้งแต่เด็ก หรือ 3Rs คือ

1. Reduce ลดการใช้ได้ไหม ถ้าเราไม่จำเป็นต้องใช้ หรือไม่รู้จะจัดการหลังใช้อย่างไรดี

2. Reuse ถ้ามันยังไม่เสียสภาพไป ก็ใช้ซ้ำ หรือ 

3. Recycle ถ้าสภาพมันเกินที่จะใช้ต่อได้ ก็นับว่ามันเป็นวัตถุดิบตั้งต้นในการผลิตตัวมันเองขึ้นใหม่หรือผลิตเป็นสิ่งอื่นก็ได้นี่นา 

 

แต่ สิ่งของหลายอย่างจะมาติดตรง R สุดท้ายนี้แหละ ว่า “แล้วจะเอาไปทำเป็นอะไรต่อได้ หรือ มันจะทำได้หรอ?” 

ซึ่งขึ้นอยู่กับอยู่หลายปัจจัย เช่น การจัดการ การจัดเก็บหลังการใช้ (ทิ้ง) ว่าของชิ้นนั้นยังมีสภาพดีพอที่จะเป็นวัตถุดิบต่อไปได้ไหม และที่สำคัญกว่า คือตอนผลิต เค้าได้ออกแบบการจัดการหลังการใช้งานไว้ไหม? (ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้คิดเผื่อไว้ เลยเกิดปัญหา) 

 

Circular Economy คือการเอาทรัพยากรมา ผลิตสิ่งของ ใช้ แล้วก็วนกลับไปเป็นวัตถุดิบตั้งต้นใหม่ โดยเน้นไปตั้งแต่ที่จุดเริ่มต้นคือตั้งแต่การออกแบบและเลือกใช้วัตถุดิบสำหรับสินค้านั้น ๆ 

 

แล้ว Abandoned materials เข้ามาเกี่ยวข้องอย่างไร

สิ่งที่เราทำก็สอดคล้องกันกับคอนเซปต์ของ Circular Economy เลย ถึงแอบจะเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุสักหน่อย แต่ในเมื่อสิ่งของถูกผลิตออกมาแล้ว ส่วนที่ต้องออกแบบตั้งแต่ต้นก็ควรต้องทำ แต่การแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว ก็ควรได้รับความสนใจและถูกจัดการเช่นกัน คือแทนที่หลังจากเราใช้มันแล้ว มันจะถูกทิ้งให้เป็นขยะหรือ waste เราก็ชิงเอามันมาเป็นวัสดุสำหรับการผลิตสินค้าชิ้นใหม่ มันเลยกลายเป็น วัสดุชั้นดีที่ถูกมองข้าม

 

การเป็น abandoned materials ก็มีได้หลายแบบ อาจจะเป็น

  1. Used: ใช้แล้ว หมายถึงอาจจะใช้งานต่อไม่ได้ตามฟังก์ชั่นเดิมแล้ว แต่คุณภาพยังดีพอที่จะนำมาเป็นวัตถุดิบของความสร้างสรรค์ใหม่ก็ได้ 

  2. Unused: อาจจะเป็นเหล่า Surplus (ส่วนเกินจากการผลิต) หรือ Defects (มีจุดพลาดในการผลิต) ทั้งหลาย คือที่ผลิตมาเกินความต้องการ (ทั้งในแง่การผลิตและการบริโภค) ยังไม่เคยถูกใช้งานเลย แต่เพราะไม่มีใครสนใจ ไม่เห็นค่า มันก็อาจจะกลายไปอยู่ในภูเขาขยะได้ 

 

วิธีการเปลี่ยนให้เจ้าพวก materials ทั้งหลายไม่ถูก abandoned ก็อาศัยอีก 3Rs คือ 

  • Rethink: คิดว่ามันคือ abandoned materials ไม่ใช่ waste

  • Redesign: ออกแบบใหม่เพื่อเพิ่มคุณค่าให้ทั้งกับตัววัสดุและ product 

  • Recreate: สร้างสรรค์ขึ้นมาใหม่

 

ถ้าให้เห็นภาพชัดขึ้น เราไปเดินทัวร์ในร้านลองเขียวดูกันดีกว่า

 

The Remaker: จากเสื้อแจ็คเก็ตสู่กระเป๋าหนังชั้นดี 

ตั้งแต่วันแรกที่ได้พบกับพี่ยุทธ วันนั้นเราได้ลองสัมผัสกระเป๋า Clutch ที่พี่ยุทธสะพายมา แล้วร้องอื้อหือกับสัมผัสที่นุ่ม ก่อนจะได้รู้ว่านี่ทำมาจากหนังแกะใช้แล้ว (ซึ่งเป็นจุดขายอย่างหนึ่งว่า ยิ่งใช้ยิ่งนุ่ม แต่เราไม่จำเป็นต้องเป็นคนใช้เองเพื่อรอเวลาที่หนังแกะจะเข้าที่)  

 

ยิ่งถูกใช้งานแล้ว ยิ่งเป็นวัตถุดิบชั้นยอด

เสื้อหนังแกะเหล่านี้ถูกส่งมาจากประเทศเมืองหนาว มีปลายทางคือประเทศแถบเราเพื่อส่งต่อให้จัดการปลายทางของมัน ซึ่งปกติแล้วมีหลายเส้นทาง ทั้งการคัดเลือกตัวที่คุณภาพดีมาก นำไปขายต่อมือสอง หรือการกำจัดทิ้ง สิ่งที่ The Remaker ทำคือหาตัวที่สามารถตัดมาทำกระเป๋าได้ ซึ่งก็หมายความว่า ถึงมีรอยขาด หรือรอยเลอะอื่น ๆ ก็สามารถปรับให้เข้ากับการตัดเย็บกระเป๋าได้ 

 

เป็นที่รู้กันว่าอุตสาหกรรมหนังสัตว์สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมาก ตั้งแต่การเลี้ยงสัตว์ที่ต้องใช้พื้นที่ อาหาร ทรัพยากรต่าง ๆ หรือการปล่อยก๊าสเรือนกระจก จนถึงกระบวนการผลิตที่ต้องใช้สารเคมีจำนวนมาก เช่น การฟอกหนัง ที่ส่งผลกระทบทั้งกับสิ่งแวดล้อมและทุกคนที่เกี่ยวข้อง 

 

สิ่งที่ The Remaker ทำคือการใช้ผลกระทบที่เกิดขึ้นแล้วให้คุ้มค่าที่สุด และไม่ทำให้เหล่าเสื้อหนังพวกนี้ต้องไปรอวันย่อยสลายแล้วปล่อยก๊าสเรือนกระจกออกมาโดยเปล่าประโยชน์

 

หมายเหตุ: ปกติแล้ว The Remaker จะผลิตออกมาในคอลเลคชั่นสีดำเท่านั้น ที่ร้านลองเขียวดูเป็นครั้งแรกที่เราจะสามารถเลือกสีของแจ็คเกตซึ่งมีหลากหลายเฉด เพื่อนำไปทำเป็นกระเป๋าที่เลือกแบบได้

 

moreloop: make circular economy a reality 

moreloop เป็นแบรนด์แรก ๆ ที่เรานึกถึงเวลาพูดถึง circular economy ต้องขอบคุณพี่พลและพี่แอ๋มที่ทำ platform นี้ขึ้นมาเพื่อให้เห็นภาพของการทำธุรกิจที่เป็นจุดเริ่มต้นของความยั่งยืนได้อย่างชัดเจนขึ้น

 

ผ้าส่วนเกินที่เคยถูกละเลย

ปกติแล้วการผลิตผ้าในระดับอุตสาหกรรม มักจะมีการผลิตเผื่อเสียหายไว้ประมาณ 5% ซึ่งไม่ใช่จำนวนน้อยเลย ลองนึกภาพว่ามีจำนวนเป็นโกดัง และล้วนเป็นผ้าที่ผ่านการทอและย้อมมาแล้วเป็นม้วน ๆ ผ้าแต่ละผืนที่ผลิตออกมาล้วนได้สร้างผลกระทบในการ ปลูก-ปั่น-ทอ-ฟอก-ย้อม มาแล้วทั้งสิ้น (ผ้าธรรมชาติก็ใช้ทรัพยากรเยอะ ส่วนผ้าจากพลาสติกก็เกิดปัญหาไมโครพลาสติกง่าย) ผ้าพวกนี้จะถูกเก็บไว้ หรืออาจจะถูกกำจัดทิ้ง การนำมาใช้ก็จะทั้งช่วยในการลดผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการผลิตผ้าใหม่ และช่วยให้ไม่เกิดปัญหาขยะจากสิ่งทอด้วย

 

โดย moreloop เป็น platform ที่รวบรวมผ้าส่วนเกินจากการผลิตที่ค้างสต็อกในโรงงานแต่ละที่ให้เกิดประโยชน์ทั้งกับตัววัสดุและผู้ประกอบการรายย่อย หรือแม้แต่องค์กรที่จำเป็นต้องมีการผลิตเสื้อ แต่ไม่อยากสร้างผลกระทบใหม่เพิ่ม 

 

ในร้านลองเขียวดูเอง เราก็เลือกผ้าจาก moreloop เพื่อทำให้การใส่เสื้อยืดของเราเป็นการสื่อสารคอนเซปต์ของการใช้ Abandoned Materials และ Circular Economy ไปในวงกว้าง ผ่านคำสนุก ๆ ที่คงมีคนถามกันเยอะว่า “ลองเขียวดู แปลว่าอะไร” 

 

การลองดูของดีไซเนอร์สัญชาติไทย Wonder Anatomie

Wonder Anatomie x LKD

ปกติแล้ววงการแฟชั่นมักจะมีคอลเลคชั่นออกมาใหม่เรื่อย ๆ Wonder Anatomie เป็นแบรนด์หนึ่งที่น่าสนใจ เพราะตั้งแต่ก่อนที่เราจะได้พูดคุยกัน ก็มีสิ่งหนึ่งที่พี่ป๊อป ดีไซเนอร์ผู้ก่อตั้งแบรนด์ ได้ทำอยู่แล้ว นั่นคือการนำ 15% ของคอลเลคชั่นก่อนหน้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสรรค์ผลงานในคอลเลคชั่นใหม่ พอได้มาเป็น Wonder Anatomie x Long Kiew Do จึงมีโอกาสในการมิกซ์แอนด์แมทช์ นำคอลเลคชั่นสุดฮิตมา re design ให้เข้าด้วยกัน เป็นคอลเลคชั่นใหม่นี้ นับว่าเป็นการสร้างสรรค์งานชิ้นใหม่ที่ไม่จำเป็นต้องผลิตจากผ้าผืนใหม่เลย

 

รักษ์ทะเลไปกับ ReReef

นอกจากลายถุงเท้าที่สะดุดตาน่ารักและช่วยสื่อสารถึงปัญหาขยะทะเลแล้ว ตัววัสดุเองก็มีที่มาที่น่าสนใจไม่แพ้กัน คือทำมาจาก Recycled polyester ที่เป็นการรีไซเคิลจากเส้นด้ายสู่เส้นด้าย ไม่ใช่การทำจากพลาสติก PET แล้วนำมาผลิตเป็นเส้นด้ายใหม่ 

ปกติแล้ว การผลิตเส้นใย polyester จะมีกระบวนการคือเอาเม็ดพลาสติก (ทั้งแบบผลิตขึ้นใหม่ และรีไซเคิลจากขวดน้ำและอื่น ๆ) มายืดออกเป็นเส้นด้าย polyester ซึ่งพอหลังจากได้เส้นด้ายออกมาแล้วก็อาจจะมีเศษด้ายหรือเศษผ้าที่เกิดขึ้นได้ จากที่เคยถูกละเลยไป เราก็เอาเศษตรงนี้คือมาปั่นรวมกัน แล้วทอขึ้นมาเป็นผ้าผืนใหม่สำหรับทำถุงเท้าขึ้นมา 

 

แล้วต่างอย่างไรจากการรีไซเคิลจากขวดน้ำ?

เป็นการลดขั้นตอนและทรัพยากรที่จะต้องผลิตใหม่จากเม็ดพลาสติก และอาจจะไม่ต้องฟอกสีใหม่

หากคัดแยกไว้และเป็นสีที่ตรงกับความต้องการ ช่วยลดการเป็นไมโครพลาสติกจากเศษผ้าที่ต้องกำจัดทิ้งด้วย

 

ขนมที่จะทำให้น้องหมาเป็นฮีโร่พิทักษ์โลก Laika 

นอกจากโภชนาการที่คัดสรรและอัดแน่นมาเต็มถุงแล้ว เรื่องราวของความยั่งยืนเบื้องหลังก็น่าสนใจไม่แพ้กัน จาก abandoned ingredients อย่างโปรตีนจากแมลง และไม่พอ ยังเป็นแมลงที่ได้รับการเลี้ยงโดยอาหารออร์แกนิคส่วนเกินจากการผลิตอีกด้วย (ทำให้ food surplus ไม่กลายเป็น food waste) 

 

แง่มุมความยั่งยืนผ่านอาหารสุนัข

โปรตีนจากแมลง: ใช้พื้นที่และทรัพยากรในการเลี้ยงต่อปริมาณสารอาหารที่ได้น้อยมากเมื่อเทียบกับเนื้อสัตว์อย่าง หมู ไก่ วัว หรือสัตว์อื่น ๆ อาหารที่ใช้เลี้ยงก็ไม่ทำให้เกิดปัญหาต่อเนื่อง เช่น การเลี้ยงปศุสัตว์ หลายที่ใช้การเลี้ยงด้วยข้าวโพด (สำหรับเลี้ยงสัตว์) ซึ่งเป็นพืชเชิงเดี่ยว เกิดปัญหาเรื่องดินเสีย และที่พบมากคือเกิดปัญหาภูเขาหัวโล้นในภาคเหนือ เพราะการหมุนเวียนปลูกต้องใช้การเผาหน้าดินไปเรื่อย ๆ 

 

อาหารส่วนเกินที่นำมาเลี้ยง: ไม่จำเป็นต้องผลิตใหม่ และลดการเกิดปัญหาขยะอาหาร ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน เนื่องจากการปล่อยก๊าสเรือนกระจก (มีเทน) ซึ่งเกิดจากการเน่าเสีย ซึ่งอาหารส่วนเกินจากการผลิตปกติมีเยอะมาก และยังคุณภาพดีพอที่จะนำมาทำเป็นวัตถุดิบให้การเลี้ยงสัตว์ได้

 

สิริไท Pure Organic Rice

เพราะ abandoned materials ไม่จำเป็นต้องอยู่ในรูปของสิ่งของเสมอไป แต่อาจจะเป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมและสิ่งแวดล้อมที่อาจจะถูกละเลยเมื่อเรามีสิ่งที่เรียกว่าเทคโนโลยี

 

ข้าวสิริไท ข้าวที่ผลิตด้วยเกษตรอินทรีย์ที่ปราศจากสารเคมี ผ่านการคัดสรรพันธุ์พื้นเมืองอย่างดีจากพี่ป้าน้าอาชาวนาชาวโคกสะอาด จ.สกลนคร และด้วยการปลูกแบบระบบนิเวศเกษตรที่ใช้สภาพแวดล้อมที่ดีตามธรรมชาติ คือดิน ป่า และน้ำในการช่วยให้ข้าวที่ปลูกทั้งนุ่มและอร่อย ปลอดภัย ดีต่อสุขภาพของทุกคน

 

การปลูกแบบเกษตรอินทรีย์ที่ดีต่อทั้งผู้ปลูกและผู้กิน

การปลูกข้าวทั่วไป มีการใช้สารเคมีมาก ทั้งปุ๋ยเคมีเพื่อเร่งผลผลิต และสำหรับการจำจัดศัตรูพืช ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อทั้งสุขภาพของผู้ปลูกและผู้กิน มีโอกาสสูงที่สารเคมีจะถูกชะล้างแล้วส่งต่อไปยังระบบนิเวศทางน้ำหรือป่าได้ ทำให้สิ่งมีชีวิตหลายประเภทได้รับผลกระทบตามไปด้วย นอกจากนี้การปลูกข้าวแบบใช้สารเคมียังสร้างต้นทุนที่สูงกว่ารายรับที่ได้ของเกษตรกรอีกด้วย (ต้นทุนสารเคมีสูง ในขณะที่ราคารับซื้อข้าวต่ำ)

 

“You have to think about end of life when you’re designing things”

อย่างไรก็ตาม ตามที่กล่าวไว้ว่าการนำวัสดุที่ถูกมองข้ามมาใช้ให้เกิดประโยชน์ยังเป็นการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว สิ่งที่ดีที่สุดที่ควรทำคือการไม่ออกแบบเพื่อสร้างขยะขึ้นมาตั้งแต่แรก 

 

แต่ถ้าจำเป็นต้องมีอะไรถูกทอดทิ้ง เราก็อยากให้เพื่อน ๆ ลอง Rethink อีกครั้งว่ามันเป็น waste หรือ abandoned materials กันแน่แล้วนำมา Redesign และ Recreate ชุบชีวิตให้มันคุ้มค่ากับการที่นำทรัพยากรมาใช้ 

 

เพื่อน ๆ สามารถติดตามร้านลองเขียวดูได้ที่ FB และ IG: longkiewdo

#littlebiggreen #AsGreenAsYouCan #AbandonNoMore

 

Quiz

Sharing Green Shop

Sharing Your Green Shop

Sharing your green shop
มาแนะนำร้านกรีนสุดโปรดของคุณกันเถอะ

มาช่วยกันแชร์ข้อมูลของร้านกรีน ๆ ที่คุณ รู้จัก ให้กลายเป็นคอมมูนิตี้ที่ทุกคนสามารถ ค้นหาร้านกรีน ๆ ที่อยู่ใกล้ตัวคุณ

เริ่มเลย!

Shade of Green

คุณคิดว่าตัวเองมีความกรีนแค่ไหน?

Play Quiz!