Can to Can Journey เส้นทางที่ยั่งยืนไม่รู้จบของกระป๋องอะลูมิเนียม
K
Knowledge

Can to Can Journey เส้นทางที่ยั่งยืนไม่รู้จบของกระป๋องอะลูมิเนียม

หลังจากที่ The TreeCycle of Joy สร้างปรากฏการณ์ต้นคริสต์มาสแนวใหม่ ทำให้ทุกคนรู้จักกระป๋องอะลูมิเนียมและความพิเศษของมันมากขึ้น ในครั้งนี้ little big green เลยอยากชวนทุกคนมาร่วมออกเดินทางตามรอยวงจรชีวิตของ “กระป๋องอะลูมิเนียม” ตั้งแต่จุดเริ่มต้นจนกระทั่งถูกวนกลับมาเป็นกระป๋องใหม่เอี่ยมให้เราใช้อีกครั้ง ว่าต้องผ่านอะไรมาบ้างและมีขั้นตอนอย่างไร ตามไปดูกัน 

 

 

ขั้นตอนการผลิตตั้งแต่แรกเริ่ม...

ณ จุดเริ่มต้นนั้น “อะลูมิเนียม” ถูกผลิตขึ้นจากการถลุงแร่บอกไซต์ในเหมืองแร่ ผ่านขั้นตอนการผลิตการปรุงแต่งสารเพิ่มเติมเพื่อให้ได้แร่อะลูมินา virgin grade ที่มีความบริสุทธิ์ จากนั้นนำมาหลอมด้วยอุณหภูมิสูงราว ๆ 700 องศาเซลเซียส แล้วขึ้นรูปเป็นแท่ง (aluminium ingot) ก่อนจะถูกรีดจนเป็นแผ่นอะลูมิเนียมแบนและบาง เตรียมพร้อมสำหรับการส่งต่อไปยังโรงงานผลิตกระป๋องอะลูมิเนียมเพื่อขึ้นรูปเป็นกระป๋อง ส่วนสีสันต่าง ๆ เป็นการสกรีนลงไปหลังจากขึ้นรูปมาแล้ว จากนั้นกระป๋องเปล่าแยกกับตัวฝาจะถูกส่งไปยังโรงงานของผู้ผลิตเครื่องดื่มเพื่อบรรจุเครื่องดื่มรสชาติต่าง ๆ ลงไป

 

ขั้นตอนการบริโภค...

กระป๋องที่บรรจุเครื่องดื่มเรียบร้อยแล้วก็จะถูกส่งไปยังร้านค้าหรือร้านสะดวกซื้อให้ผู้บริโภคได้เลือกดื่มกันตามใจชอบ เมื่อดื่มความสดชื่นจนหมดกระป๋องแล้ว กระป๋องอะลูมิเนียมที่ถูกทิ้งลงถังขยะรีไซเคิลอย่างถูกต้องก็จะถูกคัดแยกและรวบรวมโดยผู้เก็บขยะเพื่อขายให้กับร้านรับซื้อวัสดุรีไซเคิล เพื่อเข้าสู่ขั้นตอนการบีบอัดเป็นก้อนลูกบาศก์ขนาดประมาณ 1 ลูกบาศก์เมตร เพื่อให้ง่ายต่อการจัดเก็บและขนส่งไปยังโรงงานรีไซเคิล และเนื่องจากกระป๋องอะลูมิเนียมมีมูลค่าค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับขยะประเภทอื่น ๆ จึงเป็นที่นิยมมากกว่า เพราะขยะหลายประเภทที่ไม่คุ้มค่าต่อการคัดแยกก็จะไม่ถูกนำไปรีไซเคิล นับว่ากระป๋องอะลูมิเนียมเป็นขยะที่ช่วยสร้างงานสร้างรายได้หมุนเวียนให้เกิดขึ้นในชุมชนของผู้เก็บขยะและผู้รับซื้อวัสดุรีไซเคิลอย่างยั่งยืน


ขั้นตอนการรีไซเคิลแบ่งออกเป็น 2 ขั้นตอนดังนี้...

1. โรงงานรีไซเคิล รับก้อนกระป๋องอะลูมิเนียมหรือที่เรียกว่า UBC Scrap (Used Baverage Cans) มาเข้าเครื่องสับให้เป็นชิ้นเล็กลง จากนั้นแยกส่วนที่เป็นสีเคลือบ พลาสติกและสิ่งปลอมปนออกด้วยอุณหภูมิราว ๆ 400-500 องศาเซลเซียส (แต่น้อยกว่าจุดหลอมเหลวของอะลูมิเนียม) แล้วบดให้เป็นชิ้นเล็ก ๆ โดยแยกระหว่างเศษจากตัวกระป๋องกับเศษจากฝากระป๋อง เนื่องจากมีองค์ประกอบอัลลอยต่างกัน ตัวกระป๋องที่มีความเหนียว ยืดหยุ่น จะถูกอัดเป็น chips แบน ๆ ชิ้นเล็ก ๆ คล้ายคุกกี้ ส่วนฝาที่แข็งและเปราะจะออกมาเป็นผงและต้องอัดเป็น tablet

UBC Scrap

(UBC Scrap)

 

2. โรงงานหลอมและรีดแผ่น จะรับแบบ chips และ tablet นำเข้าเตาหลอมอุณหภูมิประมาณ 700 องศาเซลเซียส ให้กลับมาเป็นอะลูมิเนียมที่ยังคงคุณภาพเหมือนเดิมอีกครั้ง เพื่อหลอมเป็นแท่งใหญ่ ๆ แล้วรีดเป็นแผ่นบางยาวขึ้นพันเท่าเป็นม้วนเหมือนม้วนทิชชู่ เรียก aluminum coil แล้วส่งต่อให้โรงงานผลิตกระป๋องนำเข้าสู่ขั้นตอนการผลิตเป็นกระป๋องใหม่ต่อไป

aluminium coil

(Aluminium coil)

 

จุดสังเกตก็คือ ถ้าเรานับเฉพาะกระบวนการของการรีไซเคิลและผลิตออกมาเป็นกระป๋องใหม่จะใช้เวลาเพียง 60 วันเท่านั้น แทบไม่ต้องเติมสารอะไรเพิ่มเพราะอะลูมิเนียมจากกระป๋องรีไซเคิลมีคุณสมบัติที่ดีอยู่แล้ว และยังช่วยประหยัดพลังงานในภาพรวมได้ถึง 95% เมื่อเทียบกับการถลุงแร่ตั้งแต่ต้นที่เรายังต้องนำเข้าจากต่างประเทศอยู่ เพราะในไทยเราเป็นที่เดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีพร้อมทั้งโรงงานผลิตกระป๋อง รีไซเคิลอะลูมิเนียม และโรงงานหลอม-รีดแผ่นอะลูมิเนียม ทำให้เป็นการรีไซเคิลกระป๋องอะลูมิเนียมเป็นแบบ close loop อย่างแท้จริงดังนั้นหลังจากที่เห็นวงจรของกระป๋องอะลูมิเนียมแล้วครั้งต่อไปที่คุณอยากดื่มอะไรสดชื่น ๆ ขอฝากบรรจุภัณฑ์กระป๋องอะลูมิเนียมไว้พิจารณาเป็นทางเลือก

ดูวิดีโอเส้นทางการเดินทางของกระป๋องใบเดิมสู่กระป๋องใบใหม่ได้ที่ https://littlebiggreen.co/blog/can-to-can-journey

นอกจากนี้การที่กระป๋องอะลูมิเนียมจะเป็นวัสดุรีไซเคิลวนกลับมาใช้ใหม่ได้ไม่รู้จบอย่างแท้จริงนั้น ก็ขึ้นอยู่กับผู้บริโภคว่าจะทิ้งกระป๋องอย่างถูกต้องหรือไม่ด้วยนั่นเอง

Quiz

Sharing Green Shop

Sharing Your Green Shop

Sharing your green shop
มาแนะนำร้านกรีนสุดโปรดของคุณกันเถอะ

มาช่วยกันแชร์ข้อมูลของร้านกรีน ๆ ที่คุณ รู้จัก ให้กลายเป็นคอมมูนิตี้ที่ทุกคนสามารถ ค้นหาร้านกรีน ๆ ที่อยู่ใกล้ตัวคุณ

เริ่มเลย!

Shade of Green

คุณคิดว่าตัวเองมีความกรีนแค่ไหน?

Play Quiz!