clean-air-act
K
Knowledge

อากาศสะอาดควรเป็นของทุกคน (Clean Air is a Human Right)

เคยฝันถึงการใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางอากาศบริสุทธิ์ มองดูท้องฟ้าที่ปลอดโปร่งไหม?

หรือคิดว่าวันไหนกันที่เราจะไม่ต้องมีหน้ากากเป็นปัจจัย 5 ในชีวิตอีกแล้ว? 

 

นอกจากโควิด-19 แล้ว ยังมี “มลพิษทางอากาศ” ที่คอยจำกัดโอกาสการใช้ชีวิตของพวกเราอยู่

 

อากาศสะอาดหน้าตาเป็นอย่างไร ใครเคยเห็น?

ผ่านมาเกือบสามปีที่เราได้รู้จักกับ “ฝุ่นพิษ PM2.5” ทะเลหมอกสีคล้ำบนน่านฟ้าเมืองกรุงที่ทำให้ตึกสูงหลายตึกหายไปในบรรยากาศ หลายคนคงมีประสบการณ์ที่ต้องหาหน้ากากที่แสนจะอึดอัดแถมราคาแพงลิ่ว หรือเครื่องฟอกอากาศราคาครึ่งหมื่นพากันหมดเกลี้ยงตลาด 

มลพิษทางอากาศส่งผลเสียอย่างมากต่อสุขภาพ โดยเฉพาะฝุ่น PM2.5 ที่น่ากลัวมากเพราะขนาดอนุภาคที่เล็กจนสามารถเข้าสู่ปอดและกระแสเลือดได้ง่ายและตัวมลพิษที่มันดูดซับไว้ เช่น โลหะหนัก สารก่อมะเร็ง สามารถทำให้เป็นโรคหัวใจและโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจได้ และส่งผลยิ่งกว่ากับคนกลุ่มเสี่ยง 

 

เมื่อได้รับรู้ว่าอากาศแย่เป็นอย่างไร เราต่างโหยหาอากาศที่ดี แต่จะหาได้ที่ไหนล่ะ?

หลายคนคงคาดหวังกับภาคเหนือของประเทศไทย ว่าถ้าขึ้นไปบนที่สูง ขึ้นดอยแล้วคงได้รับอากาศบริสุทธิ์แล้วร้องว่า “ทะเลหมอกสวยจังเลย!” แต่เราคงได้เห็นข่าวมากมายที่บอกว่าจังหวัดในภาคเหนือตอนบนมีอากาศที่แย่กว่าคนภาคกลางเสียอีก! แต่เพิ่งได้รับความสนใจเมื่อวิกฤติแบบเดียวกันนี้เกิดที่เมืองกรุง

 

อากาศที่แย่ มาจากไหน?

แหล่งกำเนิดมลพิษในแต่ละที่จะไม่เหมือนกัน ในภาคเหนือ ฝุ่นพิษมักจะมาจากการเผาในที่โล่ง เช่น การเผาเพื่อการเกษตร เช่น ข้าวโพด (สำหรับเลี้ยงสัตว์ในอุตสาหกรรมปศุสัตว์) อ้อย (มักมีการชิงเผาเพื่อได้ผลผลิตเร็วพอที่จะส่งให้โรงงาน) แม้ในปัจจุบันจะมีการย้ายถิ่นฐานไปประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น แต่ด้วยภูมิศาสตร์ ทำให้ผลกระทบก็ส่งผลมาหาพวกเราอยู่ดี 

ส่วนในภาคกลาง มักเกิดจากการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ดีเซล (เช่น รถบรรทุก รถตู้ รถเมล์รุ่นเก่า รถขนาดใหญ่) โรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ หรือการเผาที่ไม่ถูกต้อง เช่น การเผาขยะ 

 

ส่งผลกับคนทุกกลุ่ม แต่ความรุนแรงกลับไม่เท่ากัน

แม้มลพิษทางอากาศจะกระจายไปทั่ว แต่ความเหลื่อมล้ำ ทำให้คนจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลที่ควรรู้ หรือแม้แต่อุปกรณ์ที่จำเป็นในการป้องกันตัวเอง ทำให้พวกเขาขาดโอกาสที่จะดูแลสุขภาพของตัวเอง และมีการพบว่าคนเหล่านี้มักไม่ใช่ผู้ที่เป็นต้นเหตุของมลพิษ

 

ชาวบ้านมักถูกมองว่าเป็นผู้ร้ายจากการเผาเพื่อการเกษตร แต่ระบบทุนที่อยู่เบื้องหลังกลับไม่ถูกกล่าวถึงสักเท่าไหร่

หนึ่งในระบบที่ใช้บีบให้ชาวบ้านต้องเผาคือ “เกษตรพันธสัญญา” หรือการที่บริษัทแปรรูปจะนำเมล็ดพันธุ์ สารเคมี และอุปกรณ์ปลูกไปขายให้กับชาวบ้าน และตั้งเป้าจำนวนผลผลิตที่จะรับซื้อ ความเป็นอยู่ที่แร้นแค้นและการขาดโอกาสเข้าถึงความรู้ที่ถูกต้อง ทำให้นอกจากจะต้องใช้วิธีที่ทำลายสิ่งแวดล้อมในการเร่งผลผลิตเพื่อส่งให้บริษัทแล้ว ยังเกิดหนี้สินเนื่องจากต้นทุนที่สูงกว่ารายรับจากการขายผลผลิตที่ถูกกดราคา

แต่การจะเปลี่ยนวิถีก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ทั้งจากเรื่องต้นทุน การเข้าถึงความรู้ สิทธิ์ในที่ดินเพื่อทำการเกษตรอย่างยั่งยืน หรือปัญหาต่าง ๆ ทำให้ต้องยอมเป็นจำเลยให้กับอุตสาหกรรมอาหารที่เติบโตขึ้นต่อไป (แม้ว่าสุดท้ายเราจะมี Food Waste เกิดขึ้นมาก เพราะผลิตเยอะกว่าความจำเป็น)

 

แม้ว่าปัจจุบันจะมีการย้ายถิ่นฐานเกษตรพันธสัญญาไปที่ประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น แต่ด้วยภูมิศาสตร์ ทำให้ผลกระทบยังตกลงมาที่ประเทศไทยอยู่ดี

 

จริง ๆ แล้วไม่ได้มีแค่ PM2.5 ที่เป็นอันตราย ยังมีสสารอื่น ๆ อีก เช่น CO, Ozone (โอโซนดีอยู่ในชั้นบรรยากาศ ป้องกันเราจาก UV ส่วนโอโซนไม่ดีอยู่ระดับพื้นถนน เป็นอันตราย), NOx, VOCs 

สามารถตรวจเช็คเบื้องต้นได้ผ่านแอป AirVisual 

 

ทำอย่างไร ถึงจะได้อากาศดี?

  1. ทำความเข้าใจว่าปัญหามลพิษทางอากาศเกิดจากอะไรได้บ้าง เราเป็น 1 ในต้นเหตุอย่างไรได้บ้าง

  2. สนับสนุนการบังคับใช้กฎหมายที่จะยกให้ทุกคนมีสิทธิ์ในการหายใจอากาศสะอาด ด้วยพ.ร.บ. อากาศสะอาด (Clean Air Act) ในประเทศไทย 

 

ทำไมต้องลงชื่อสนับสนุนร่างพ.ร.บ. อากาศสะอาด?

  1. ทำให้สิทธิที่จะหายใจอากาศสะอาด ถูกรับรองว่าเป็นสิทธิของประชาชน ก่อให้เกิดหน้าที่ของรัฐที่ต้องรับรอง ปกป้อง และทำให้เกิดสิทธินี้ขึ้นจริง  

  2. ทำให้มีสิทธิ์ในการเข้าถึงข้อมูลอากาศที่กำลังหายใจอยู่ ว่าปลอดภัยหรือมีผลต่อสุขภาพอย่างไร

  3. ทำให้การดูแล ป้องกันตัวเองจากมลพิษไม่ใช่ภาระของประชาชน แต่เป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของผู้บังคับใช้กฎหมายที่จะต้องจัดการกับแหล่งกำเนิดมลพิษอย่างถูกต้อง

  4. นอกจากนี้ การก่อกำเนิดหมอกควันพิษข้ามแดน (เช่น ประเทศเพื่อนบ้าน) จะสามารถถูกควบคุมได้ด้วยการกำหนดบทลงโทษ

 

ลงชื่อเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการทวงสิทธิ์ที่จะหายใจอากาศบริสุทธิ์ที่ https://thailandcan.org/ 


#AsGreenAsYouCan #littlebiggreen 

Quiz

Sharing Green Shop

Sharing Your Green Shop

Sharing your green shop
มาแนะนำร้านกรีนสุดโปรดของคุณกันเถอะ

มาช่วยกันแชร์ข้อมูลของร้านกรีน ๆ ที่คุณ รู้จัก ให้กลายเป็นคอมมูนิตี้ที่ทุกคนสามารถ ค้นหาร้านกรีน ๆ ที่อยู่ใกล้ตัวคุณ

เริ่มเลย!

Shade of Green

คุณคิดว่าตัวเองมีความกรีนแค่ไหน?

Play Quiz!