global-warming-and-climate-change
K
Knowledge

เมื่อโลกร้อน เป็นแค่หนึ่งใน “ภาวะโลกรวน”

เชื่อว่าทุกคนคงรู้จัก “ภาวะโลกร้อน” Global Warming ไม่ว่าจะจากการเรียนในห้องตั้งแต่เด็ก หรือเห็นจากในสื่อทั่วไป 

 

ภาวะโลกร้อน เกิดขึ้นจริง และรุนแรงขึ้น แต่.. เราไม่ได้กำลังเผชิญแค่เรื่องอุณหภูมิที่สูงขึ้นหรือความร้อน ยังมีปรากฏการณ์อื่น ๆ อีกมากที่เป็นผลตามมา ด้วยความเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ จึงถูกเรียกว่า Climate Change หรือ “ภาวะโลกรวน” ชื่อในภาษาไทยที่ได้รับการคัดเลือกมาในปีที่แล้ว 

 

ภาวะโลกร้อน คือ การที่อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกมีค่าสูงขึ้น อันเนื่องมากจากที่ปกติแล้วโลกเรามีเกราะหุ้มทั่วโลกคือ Ozone ทำหน้าที่ในการป้องกันรังสี UV ไม่ให้ส่องมาถึงพื้นดินมากเกินไป แต่ให้ความร้อนบางส่วนส่องผ่านลงมา และทำหน้าที่ป้องกันการสูญเสียความร้อนของโลก นอกจากนี้ ยังมีก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse gases: GHG) ที่ทำหน้าที่คล้ายกัน คือ Greenhouse effect (ภาวะเรือนกระจก) ในส่วนของการดูดซับความร้อนเอาไว้ในชั้นบรรยากาศ ให้อุณหภูมิไม่น้อยเกินไปจนสิ่งมีชีวิตไม่สามารถอยู่ได้ 

 

เมื่อก่อน GHG จะมาจากกิจกรรมที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ และคงความสมดุลให้กับสิ่งมีชีวิตและธรรมชาติบนโลก แต่ในช่วงไม่กี่ร้อยปีที่ผ่านมา ตั้งแต่มีการปฏิวัติอุตสาหกรรม กิจกรรมของมนุษย์เป็นส่วนหลักที่ทำให้ GHG เยอะขึ้นมาก ตัวเด่น ๆ คือ CO2 (คาร์บอนไดออกไซด์) และ CH4 (มีเทน) ทำให้มีการสะสมความร้อนมากเกินไปและทำให้อุณหภูมิทั่วโลกสูงขึ้น เกิดเป็น “ภาวะโลกร้อน” หรือ Global Warming พอสูงขึ้นจนกระทบกับวิถีธรรมชาติและภูมิอากาศเดิม เลยเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดความแปรปรวนกับปรากฎการณ์ต่าง ๆ บนโลก หรือ “ภาวะโลกรวน” หรือ Climate Change

 

ใช่ว่าเมื่อก่อนจะไม่มี Climate Change เพียงแต่การเปลี่ยนแปลงที่ว่า มักจะเกิดในระยะเวลาหลักร้อย-พันปี แต่ในปัจจุบัน การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นไวมาก เพียงแค่ปีหน้า ก็คาดเดาได้ยากแล้ว ว่าจะเกิดภัยพิบัติอะไรขึ้นบ้าง

 

“ภาวะโลกรวน” เกิดขึ้นจาก 2 ปัจจัยหลักคือ ภาวะโลกร้อน และ สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปในช่วงระยะเวลาที่ยาวนาน 

 

การรวมตัวของทั้ง 2 ปัจจัยทำให้ปรากฏการณ์ธรรมชาติเกิดขึ้นแตกต่างไปจากเดิม รุนแรงขึ้น ถี่ขึ้น คาดเดายากขึ้น 

 

ตัวอย่างที่อาจจะได้เห็นกันบ่อยขึ้นคือ 

  1. น้ำท่วม: ความร้อนทำให้น้ำแข็งที่ขั้วโลกละลาย น้ำทะเลขยายตัวขึ้น และยังมีเรื่องของฝนที่ในหลายพื้นที่มีความรุนแรงมากขึ้นและถี่ขึ้น

  2. แล้ง: ด้วยฝนที่ไม่ตกตามฤดูหรือในหลายพื้นที่ที่ตกน้อยอยู่แล้ว ก็ยิ่งน้อยเข้าไปอีก นอกจากกระทบกับชีวิตผู้คน ยังกระทบกับพืชผล ที่ปลูกไม่ขึ้นในสภาพภูมิศาสตร์แบบนี้ 

  3. ทะเลและสิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเล: ทั้งอุณหภูมิที่สูงขึ้นและสารตัวหลักของ GHG คือ Carbon dioxide ที่มากเกินไป ทำให้เกิดปฏิกิริยา Ocean Acidification โดยปกติแล้ว ทะเลจะช่วยดูดซับ CO2 และทำปฏิกิริยาเป็นกรด Carbonic อยู่แล้ว แต่พอมีมากขึ้น ก็ดูดซับมากขึ้น เป็นกรดมากขึ้น ทำให้สิ่งมีชีวิตใต้ทะเล ไม่ว่าจะเป็น สัตว์เปลือกแข็งจำพวกหอย ปะการังเกิดการฟอกขาว หรือปลาหลากชนิดอ่อนแอลง ซึ่งจะทำให้จำนวนอาหารทะเลหรือแหล่งโปรตีนของมนุษย์ก็ลดลงไปด้วย

  4. อากาศที่ร้อนขึ้น: ยิ่งในภูมิประเทศของเราอยู่ในเขตร้อนแถบเส้นศูนย์สูตร ยิ่งร้อนก็ยิ่งต้องเปิดแอร์ ไฟฟ้าในบ้านเรา ส่วนมากมีที่มาที่ปล่อย GHG สูง เช่น ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ ทำให้สถานการณ์ยิ่งแย่ขึ้นเรื่อย ๆ แถมยังมีการจัดการปัญหาโลกร้อนที่ยังไม่มากพอ เช่น พื้นที่สีเขียวน้อย ไม่ค่อยมีมาตรการที่ช่วยให้ผู้คนใช้ชีวิตแบบลดผลกระทบต่อโลก

 

แล้วควรทำอย่างไรเพื่อลด “โลกร้อน” เพื่อลดผลที่ตามมาคือ “ภาวะโลกรวน”

  1. สำคัญที่สุด คือ ทำความเข้าใจว่า GHG เกิดขึ้นจากกิจกรรมในชีวิตประจำวันเราได้อย่างไรบ้าง เช่น การใช้ไฟฟ้า การใช้รถยนต์ หรือการเลือกซื้อของกิน ของใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งมีให้พิจารณาตั้งแต่ต้นทาง-ปลายทาง (ลองหาได้จากการค้นหา Carbon footprint of … เช่น Food ก็จะเจอว่าเนื้อวัว ทำให้เกิด GHG มากที่สุด ซึ่งสืบเนื่องมาตั้งแต่การปลูก/ผลิตอาหารเลี้ยงวัว วิถีชีวิตของวัวตลอดทั้งชีวิต เป็นตัน)

  2. เรื่องเล็ก ๆ ที่เริ่มทำได้ก่อน และแนะนำให้ทำ คือเรื่อง “ขยะ” เริ่มด้วยการลดการใช้ ใช้ให้คุ้ม และแยกทิ้งให้ถูกต้อง 

    1. โดยเฉพาะขยะเศษอาหาร ที่เมื่อเกิดการหมักหรือเน่าเสีย จะเกิดแก๊สมีเทน ซึ่งมีอาณุภาพของการเป็น GHG มากกว่า CO2 ถึง 28 เท่า -> วางแผนการกินให้เหลือทิ้งน้อยที่สุด

    2. เลือกใช้ของที่คุ้มค่ากับผลกระทบที่เกิดขึ้นในการผลิต สามารถใช้ซ้ำได้ดี 

    3. เมื่อไม่ใช้แล้ว แยกขยะให้เกิดการรีไซเคิลมากที่สุด 

    4. หากลองตั้งใจแยกแล้ว จะพบข้อสงสัยอีกมากว่า ทำไมวัสดุชิ้นนี้ควรจะรีไซเคิลได้ ถ้าทิ้งเป็นขยะทั่วไป ก็จะไปปะปนในบ่อขยะ แต่ขายให้ซาเล้งไม่ได้ -> ควรจะเรียกร้องให้ถึงผู้ผลิตเพื่อคิดถึงเรื่องการรับผิดชอบกับสินค้าของตัวเองให้มากขึ้น โดยใช้หลัก Extended Producer Responsibility (EPR)

  3. บางครั้ง เราจะต้องคิดถึงผลกระทบหลายด้านเพื่อหาวิธีการจัดการที่เหมาะสมที่สุด เช่น เรื่องของถุงผ้า ถุงพลาสติก และถุงกระดาษ

    1. หากใช้เพียงครั้งเดียว การปล่อย CO2: ถุงผ้า > ถุงกระดาษ > ถุงพลาสติก (ถุงผ้าไม่ได้ลดโลกร้อน ถ้าใช้ครั้งเดียว)

    2. แต่ถ้าในเรื่องของปัญหาไมโครพลาสติก (ย่อยสลายไม่ได้/ยาก): ถุงพลาสติก > ถุงผ้า > ถุงกระดาษ

    3. ความทนทาน สามารถซักได้: ถุงผ้า > ถุงพลาสติก > ถุงกระดาษ

    4. ดังนั้นเราควรจะใช้อะไร? ถุงที่ดีที่สุดคือ “ถุงที่มีอยู่แล้ว” บางคนอาจชอบถุงผ้า เพราะซักง่าย บางคนอาจชอบใช้ถุงพลาสติกซ้ำ ๆ เพราะกันน้ำได้ดี 

    5. หากได้รับมาใหม่อย่างไม่ตั้งใจ ให้ใช้ซ้ำให้คุ้ม และทิ้งให้ถูกต้องตามสภาพ เช่น ถุงกระดาษที่ไม่เปื้อน จะรวบรวมขายกับซาเล้งได้ ถุงพลาสติก หากสะอาด สามารถแยกทิ้งในจุดรับทิ้งพลาสติกยืด ส่วนถุงผ้า ถุงพลาสติก หรือถุงอื่น ๆ ที่ขายไม่ได้ ให้ส่งเผาทำเชื้อเพลิง 

    6. อย่างไรก็ตาม ไม่แนะนำ ถุงสปันจ์บอนด์ เพราะเป็นพลาสติกชนิดที่เหมือนผ้า แต่มีคุณสมบัติในการแตกตัวไว ไม่ย่อยสลาย อายุการใช้งานสั้น เพราะไม่ทนทาน

 

“ภาวะโลกร้อน มีอยู่จริง และเป็นปัญหาใหญ่สำหรับทุกคน เพราะ THERE IS NO PLANet B.”

 

#AsGreenAsYouCan #littlebiggreen

 

Quiz

Sharing Green Shop

Sharing Your Green Shop

Sharing your green shop
มาแนะนำร้านกรีนสุดโปรดของคุณกันเถอะ

มาช่วยกันแชร์ข้อมูลของร้านกรีน ๆ ที่คุณ รู้จัก ให้กลายเป็นคอมมูนิตี้ที่ทุกคนสามารถ ค้นหาร้านกรีน ๆ ที่อยู่ใกล้ตัวคุณ

เริ่มเลย!

Shade of Green

คุณคิดว่าตัวเองมีความกรีนแค่ไหน?

Play Quiz!