สร้างโลกกรีนอย่างยั่งยืนได้ ด้วยแผนพัฒนา
N
News

สร้างโลกกรีนอย่างยั่งยืนได้ ด้วยแผนพัฒนา

หลายคนอาจจะเคยได้ยินเรื่องของ SDGs กันมาบ้าง วันนี้เราจะมาเล่าถึงแนวคิดนี้ในแบบฉบับของ little big green ให้ทุกคนได้ฟังกัน โดยก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับ “Sustainable Development Goals (SDGs)” หรือ “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” ว่าคืออะไร มีเป้าหมายอะไรบ้างที่เราควรจะรู้ไว้

SDGs แผนพัฒนาโลกสู่ความยั่งยืน มีอะไรบ้าง?

SDGs เป็นเป้าหมายที่ถูกตั้งขึ้นเพื่อการพัฒนาโลกไปสู่ความยั่งยืนทั้งในด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม มีองค์การสหประชาชาติ (United Nations) เป็นหัวเรือใหญ่เชิญ 193 ประเทศสมาชิกทั่วโลกมาร่วมมือกัน ให้แต่ละประเทศวางแผนและติดตามผล เพื่อบรรลุเป้าหมายทั้ง 17 ข้อ ภายในปี 2030 ซึ่ง 17 ข้อนั้นก็จะเกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ของทั้งมนุษย์ และสิ่งแวดล้อมทั่วโลก ได้แก่

 

เป้าหมายที่ 1 ขจัดความยากจน (No Poverty) ขจัดความยากจนทั้งทางเศรษฐกิจ และความยากจนในมิติอื่น ๆ ทุกรูปแบบในทุกพื้นที่ ครอบคลุมคนทุกกลุ่ม

เป้าหมายที่ 2 ขจัดความหิวโหย (Zero Hunger) ยุติความหิวโหย บรรลุความมั่นคงทางอาหารและยกระดับโภชนาการและส่งเสริมเกษตรกรรมที่ยั่งยืน รวมถึงให้เด็กและผู้ด้อยโอกาสสามารถเข้าถึงอาหารที่ปลอดภัย มีโภชนาการและเพียงพอ

เป้าหมายที่ 3 มีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี (Good Health and Well-being) สร้างหลักประกันว่าคนมีชีวิตที่มีสุขภาพดีและส่งเสริมสวัสดิภาพสำหรับทุกคนในทุกวัย สนับสนุนการวิจัยและพัฒนาวัคซีน และให้ทุกคนเข้าถึงยาในราคาที่เหมาะสม

เป้าหมายที่ 4 การศึกษาที่เท่าเทียม (Quality Education) สร้างหลักประกันว่าทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม และสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต ครอบคลุมการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพของเด็กในทุกระดับ

เป้าหมายที่ 5 ความเท่าเทียมทางเพศ (Gender Equality) บรรลุความเท่าเทียมระหว่างเพศ ยุติการเลือกปฏิบัติ และขจัดความรุนแรงทุกรูปแบบต่อผู้หญิงและเด็กหญิง

เป้าหมายที่ 6 การจัดการน้ำและสุขาภิบาล (Clean Water and Sanitation) สร้างหลักประกันว่าจะมีการจัดให้มีน้ำและสุขอนามัยสำหรับทุกคนและมีการบริหารจัดการที่ยั่งยืน แก้ปัญหาขาดแคลนน้ำ ครอบคลุมไปถึงการปกป้องและฟื้นฟูระบบนิเวศเกี่ยวกับแหล่งน้ำ เช่น ป่าไม้ ภูเขา แม่น้ำ เป็นต้น 

เป้าหมายที่ 7 พลังงานสะอาดที่ทุกคนเข้าถึงได้ (Affordable and Clean Energy) สร้างหลักประกันให้ทุกคนสามารถเข้าถึงพลังงานที่ยั่งยืนในราคาที่ย่อมเยา เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และพลังงานความร้อน

เป้าหมายที่ 8 การจ้างงานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ (Decent Work and Economic Growth) ส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง ครอบคลุม และยั่งยืน การจ้างงานเต็มที่ มีผลิตภาพ และการมีงานที่เหมาะสมสำหรับทุกคน

เป้าหมายที่ 9 อุตสาหกรรม นวัตกรรม โครงสร้างพื้นฐาน (Industry, Innovation and Infrastructure) สร้างโครงสร้างพื้นฐานที่มีความทนทาน ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ครอบคลุมและยั่งยืน มีประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากร สะอาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงส่งเสริมนวัตกรรม

เป้าหมายที่ 10 ลดความเหลื่อมล้ำ (Reduced Inequality) ลดความเหลื่อมล้ำ ความไม่เสมอภาคภายในประเทศและระหว่างประเทศ รวมถึงพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมไปพร้อม ๆ กัน

เป้าหมายที่ 11 เมืองและถิ่นฐานมนุษย์อย่างยั่งยืน (Sustainable Cities and Communities) ทำให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มีความครอบคลุม ปลอดภัย มีภูมิต้านทานและยั่งยืน มีการเข้าถึงที่อยู่อาศัย การเข้าถึงระบบคมนาคมขนส่ง และการบริการขั้นพื้นฐานที่ยั่งยืนที่พอเพียงปลอดภัยและในราคาที่สามารถจ่ายได้

เป้าหมายที่ 12 แผนการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน (Responsible Consumption and Production) สร้างหลักประกันให้มีรูปแบบการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน มีการจัดการและการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน รวมไปถึงเรื่องของการกำจัดขยะและลดมลพิษด้วย

เป้าหมายที่ 13 การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Action) เร่งต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบที่เกิดขึ้น การร่วมมือกันจำกัดการเพิ่มอุณหภูมิของโลกไม่ให้เกิน 2 องศาเซลเซียส

เป้าหมายที่ 14 การใช้ประโยชน์จากมหาสมุทรและทรัพยากรทางทะเล (Life Below Water) อนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทร ทะเล และทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ครอบคลุมทั้งด้านมลพิษ การบริหารจัดการและอนุรักษ์ทรัพยากรประมง ความเท่าเทียมกันในการเข้าถึงทรัพยากรประมง  และผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

เป้าหมายที่ 15 การใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศทางบก (Life on Land) ปกป้อง ฟื้นฟู และสนับสนุนการใช้ระบบนิเวศบนบกอย่างยั่งยืน จัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน ลดการทำลายป่า ต่อสู้กับการกลายสภาพเป็นทะเลทราย หยุดการเสื่อมโทรมของที่ดินและฟื้นสภาพกลับมาใหม่ และหยุดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศ

เป้าหมายที่ 16 สังคมสงบสุข ยุติธรรม ไม่แบ่งแยก (Peace and Justice Strong Institutions) ส่งเสริมสังคมที่สงบสุขและครอบคลุมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ให้ทุกคนเข้าถึงความยุติธรรมและสร้างสถาบันที่มีประสิทธิผลรับผิดชอบและครอบคลุมในทุกระดับ เป็นการลดความรุนแรงทุกรูปแบบในสังคมนั่นเอง

เป้าหมายที่ 17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Partnerships to Achieve the Goal) สร้างพลังแห่งการเป็นหุ้นส่วน ความร่วมมือระดับสากลต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

 

ความยั่งยืนรอบด้านเกิดจากความร่วมมือ

เราจะเห็นได้ว่าในเป้าหมายทั้ง 17 ข้อจะมีจุดมุ่งหมายเพื่อเสริมสร้างความยั่งยืนใน 3 ด้านด้วยกันคือ สิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ โดยในแต่ละข้ออาจเกิดผลกระทบมากกว่า 1 ด้าน เช่น เป้าหมายที่ 12 แผนการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน (Responsible Consumption and Production) การบริโภคในที่นี้อาจจะเป็นสินค้าและบริการในรูปของสิ่งของหรือทรัพยากรธรรมชาติ ตัวอย่างง่าย ๆ ที่สามารถเห็นภาพได้อย่างครอบคลุมคือ อุตสาหกรรมแฟชั่น 

ในปัจจุบันมักมีการผลิตแบบ Fast Fashion คือ ผลิตจำนวนมาก ให้ค่าแรงต่ำ ใช้วัตถุดิบที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมสูง เพื่อลดต้นทุน และสามารถออกคอลเลคชั่นใหม่ ๆ ราคาถูก (โดยส่วนใหญ่) ได้เรื่อย ๆ  ผลกระทบคือ 

  1. เกิดสินค้ามากเกินความต้องการ เกิดโปรโมชั่นหรือราคาที่ดึงดูดให้ผู้บริโภคซื้อโดยไม่จำเป็น (overconsumption) ซึ่งก็มีโอกาสสูงที่สินค้าเหล่านั้นจะกลายเป็นขยะหลังการสวมใส่เพียงไม่กี่ครั้ง 
  2. เพราะต้นทุนทางสิ่งแวดล้อมเป็นต้นทุนแฝงที่มักจะถูกละเลย เมื่อมองไม่เห็น และมีการผลิตมากขึ้น จึงทำให้ผลกระทบยิ่งมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งน้ำ สารเคมี การใช้พลังงาน การปล่อย carbon emission ซึ่งส่งผลต่อภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง (Climate Change) 
  3. อัตราค่าจ้างที่ถูกทำให้ต่ำเกินไป ทำให้แรงงานไม่สามารถที่จะใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ 
  4. ผลกระทบโดยอ้อม คือ ราคาของผลผลิตที่เกิดขึ้นด้วยความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและคุณค่าของแรงงานมนุษย์ถูกมองว่าแพงไปเมื่อเทียบกับสินค้าชนิดเดียวกัน ทำให้ตลาดสินค้าต้องแข่งกันด้วยราคามากกว่าคุณค่า

 

นอกจากนี้เป้าหมายข้อนี้ยังมีความเกี่ยวข้องกับเป้าหมายอื่น ๆ เช่น

กับเป้าหมายที่ 6 การจัดการน้ำและสุขาภิบาล: อุตสาหกรรมแฟชั่นใช้น้ำ และมีส่วนในการการทำน้ำเสียเป็นอันดับ 2 หรือคิดเป็น 20% ของอุตสาหกรรมทุกประเภท

กับเป้าหมายที่ 8 การจ้างงานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ: อุตสาหกรรมสิ่งทอที่ต้นทุนต่ำ มักจะมีการจ้างแรงงานอย่างไม่เป็นธรรม 

กับเป้าหมายที่ 13 การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ: กระบวนการผลิตของอุตสาหกรรมแฟชั่นมีส่วนในการปล่อย CO2 ถึง 10% (มากกว่าการขนส่งทางเครื่องบินและทางน้ำรวมกัน)

กับเป้าหมายที่ 14 การใช้ประโยชน์จากมหาสมุทรและทรัพยากรทางทะเล: ทั้งสารเคมี ขยะจากการบริโภคเกินจำเป็น (ทั้งตัวสินค้าและบรรจุภัณฑ์) ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศใต้น้ำ โดยเฉพาะเสื้อผ้าจากเส้นใยสังเคราะห์ ที่จะกลายเป็นไมโครพลาสติกนับเป็นสัดส่วนถึง 31% ในแหล่งน้ำ (เท่าที่วัดได้)

 

ในการผลักดันให้บรรลุเป้าหมายข้อนี้ (เป้าหมายอื่น ๆ ก็เช่นกัน) จะต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้ง 3 ฝ่ายคือ ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน โดยภาครัฐอาจกำหนดนโยบายหรือมาตรการกำหนดเพื่อควบคุมมาตรฐานเพื่อให้ผู้ผลิตมีความรับผิดชอบมากขึ้น ภาคเอกชนหรือฝั่งผู้ผลิตควรมีแนวทางในการผลิตที่มีจริยธรรมมากขึ้น ส่วนภาคประชาชนหรือผู้บริโภคก็สังเกตและสงสัยในที่มาที่ไปของสินค้า สำรวจความต้องการในการบริโภคของตัวเอง และเลือกสนับสนุนผู้ผลิตที่คำนึงถึงสังคมและสิ่งแวดล้อม

 

แล้วมีเรื่องอะไรใน “SDGs” ที่คนกรีนตัวเล็ก อย่างเราสามารถทำได้บ้างนะ?

จากทั้ง 17 เป้าหมาย มีหลายข้อที่อาจจะต้องอาศัยกำลังของภาครัฐและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องโดยตรง แต่ว่าในขณะเดียวกันก็มีหลายข้อเลยที่เราสามารถลงมือทำได้ เพื่อช่วยให้เป้าหมายเหล่านี้สำเร็จ (และเชื่อว่าหลายคนก็เริ่มทำมานานแล้ว) ซึ่งเกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตประจำวัน และพฤติกรรมการบริโภคของมนุษย์เรา ไม่ว่าจะเป็น

  • ลองสังเกตกิจกรรมในชีวิตประจำวัน ตั้งคำถามเกี่ยวกับแหล่งที่มาที่ไปว่ามีผลกระทบอะไรบ้างที่เกิดขึ้น และเราสามารถลดผลกระทบเหล่านั้นอย่างไรได้บ้าง
  • เพราะคำว่า “ใช้แล้วทิ้ง” ไม่ใช่ชื่อสินค้าแต่เป็นพฤติกรรม ลองเปลี่ยนวิธีการบริโภคสินค้าแบบ single use (ครั้งเดียวทิ้ง) เป็น multiple use (ใช้ซ้ำจนคุ้ม) ไม่รีบร้อนทิ้งให้กลายเป็นส่วนหนึ่งในภูเขาขยะ แล้วยังช่วยลดการใช้ทรัพยากรในผลิตเพิ่มอีกด้วย
  • เปิดใจให้กับ sustainable fashion หรือแฟชั่นแบบยั่งยืน ซึ่งมีทั้งการสนับสนุนเสื้อผ้าที่ผลิตด้วยกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีความโปร่งใสในการจ้างงาน เลือกซื้อเสื้อผ้ามือสอง แบ่งปันกันใส่ หรือที่ดีและง่ายที่สุดก็คือ การ mix and match เสื้อผ้าที่มีอยู่แล้ว 

อย่างที่บอกไปว่าเป้าหมายนี้คือแผนพัฒนาโลกใบเดียวกัน และต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกคนอย่างแท้จริง ถ้าอย่างนั้นเรามาช่วยกันทำในสิ่งที่เราทำได้กันตั้งแต่วันนี้ ไม่ใช่เพียงแค่เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน แต่มันคือการเริ่มรักษาโลกให้คงอยู่ และส่งต่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีให้กับวันพรุ่งนี้ของทุกคนอีกด้วย 

ขอบคุณข้อมูลจาก sdgmove.com, greenery.org, weforum.org

Quiz

Sharing Green Shop

Sharing Your Green Shop

Sharing your green shop
มาแนะนำร้านกรีนสุดโปรดของคุณกันเถอะ

มาช่วยกันแชร์ข้อมูลของร้านกรีน ๆ ที่คุณ รู้จัก ให้กลายเป็นคอมมูนิตี้ที่ทุกคนสามารถ ค้นหาร้านกรีน ๆ ที่อยู่ใกล้ตัวคุณ

เริ่มเลย!

Shade of Green

คุณคิดว่าตัวเองมีความกรีนแค่ไหน?

Play Quiz!