whocantell
K
Knowledge

ใครกันบอกได้ อะไรจะถูกรีไซเคิล

เอ๊ะ เราเคยสงสัยกันไหมว่า เวลาเราทิ้งขยะรีไซเคิล มันไปไหนต่อ?

 

“ผู้คนทิ้งของที่พวกเขาคิดว่ารีไซเคิลได้ลงในถังขยะรีไซเคิล แต่น่าเสียดายที่ไม่ใช่ทุกอย่างที่ทิ้งจะถูกนำไปรีไซเคิล”  

 

ขยะรีไซเคิลมีอะไรบ้าง? 

เพื่อน ๆ ลองตอบในใจแล้วมาดูกันว่าคำตอบที่คิดไว้เหมือนกับข้อไหนข้างล่างนี้ 

.

.

.

.

.

.

  1. ขวดพลาสติก ขวดแก้ว กระป๋อง กระดาษ (คิดแบบเป็นสิ่งของนั้น ๆ เช่น “ขวด” )

  2. พลาสติก อะลูมิเนียม กระดาษ (ใช้ประเภทของวัสดุเป็นเกณฑ์ เช่น เป็นอะไรก็ได้จากพลาสติกรีไซเคิลได้หมด)

  3. อื่น ๆ 

 

ตัวเลือกข้างบนนี้เกิดจากการสอบถามคนจำนวนมาก เรามาดูคำอธิบายของแต่ละคำตอบกันดีกว่า

 

คำตอบแบบที่ 1: ขวดพลาสติก ขวดแก้ว กระป๋อง กระดาษ (คิดแบบเป็นสิ่งของนั้น ๆ เช่น “ขวด” )

>> จริง ๆ แล้ว เรายังมีขยะอีกมากที่รีไซเคิลได้ เพราะอะไรที่รีไซเคิลได้ = มีราคารับซื้อ-ขาย มักจะมีราคาขึ้นบนเว็บรับซื้อขยะ (ท้ายบทความมีลิงก์ให้ลองกดดูเล่นกัน) 

 

คำตอบแบบที่ 2: พลาสติก อะลูมิเนียม กระดาษ (ใช้ประเภทของวัสดุเป็นเกณฑ์ เช่น เป็นอะไรก็ได้จากพลาสติกรีไซเคิลได้หมด)

>> ไม่ใช่พลาสติก กระดาษ หรืออะลูมิเนียมทุกแบบที่รีไซเคิลได้ ยังมีเงื่อนไขอีกมาก 

 

ส่วนคำตอบแบบอื่น ๆ 

>> ลองมาอ่านต่อกันว่าตรงกับที่ควรจะเป็นแล้วหรือไม่

 

รีไซเคิลได้หรือไม่ได้ ใครกันที่บอกได้?

ในการนำขยะหรือวัสดุไปรีไซเคิล เรามีคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องในเส้นทางทั้งหมด 4-5 คน คือ

  1. คนทิ้งขยะ หรือ ผู้บริโภค

  2. คนคัดแยกขยะขั้นที่ 1 หรือ แม่บ้าน (ถ้ามี)

  3. คนเก็บ คัดแยกขยะขั้นที่ 2 เช่น ซาเล้ง หรือ พนักงานรถเก็บขยะ

  4. โรงรับซื้อขยะรีไซเคิล หรือ ร้านรับซื้อของเก่า

  5. โรงงานรีไซเคิล

 

เราจะเดินทางย้อนจากโรงงานรีไซเคิลว่าเขารับขยะแบบไหนไปจนถึงผู้บริโภค ว่าแล้วเราควรทิ้งแบบไหนเพื่อตอบโจทย์การรีไซเคิลจริง ๆ นะ

 

โรงงานรีไซเคิล

การที่โรงงานจะรับรีไซเคิลของสักอย่าง จะขึ้นอยู่กับความสามารถของเครื่องมือในการรีไซเคิลและความต้องการของตลาดที่มากพอจะทำให้ไม่ขาดทุน โดยจำนวนมากเป็นโรงงานรีไซเคิลเฉพาะอย่าง คือบางที่รับรีไซเคิลพลาสติก PET พลาสติกทั่วไป อะลูมิเนียม โลหะอื่น ๆ หรือ กระดาษ บางที่รับรีไซเคิลหลายประเภท 

 

โรงรับซื้อขยะรีไซเคิล หรือ ร้านรับซื้อของเก่า

รับขยะจากซาเล้งหรือการรับซื้อ โดยจะคัดแยกขยะที่รีไซเคิลได้เพื่อส่งต่อไปยังโรงงานรีไซเคิลประเภทต่าง ๆ โดยมีการกำหนดราคารับซื้อจากอุปสงค์-อุปทานของตลาด โดยปกติแล้วจะคัดเลือกจาก 

 

1. ควรเป็น mono-material หรือสามารถแยกวัสดุแต่ละประเภทออกจากกันได้ง่าย: ถ้าเป็น composite material เช่น กล่องนม ที่หลายคนคิดว่ารีไซเคิลได้ แต่เพราะมีองค์ประกอบทั้งพลาสติก กระดาษ อะลูมิเนียม เชื่อมติดกัน (laminated) ทำให้ไม่สามารถรีไซเคิลได้ ในความหมายที่ว่าทำให้กล่องนมกลับเป็นกล่องนมอีกครั้ง

อีกตัวอย่างหนึ่งคือซองขนม หากเราพลิกหลังซองดู เราอาจจะได้เห็นสัญลักษณ์ลูกศรชี้กันเป็นวงเพื่อบอกว่าบรรจุภัณฑ์สามารถรีไซเคิลได้ แต่เช่นเดียวกัน ซองขนมมักจะทำมาจากพลาสติกเคลือบติดอะลูมิเนียมฟอยล์ ซึ่งพอเคลือบติดกันแล้วไม่สามารถที่จะรีไซเคิลแยกออกมาได้ มีบางกรณี เช่น กล่องนม ที่มีระบบรองรับการรีไซเคิลโดยเฉพาะ แต่ต้องทิ้งหรือส่งไปตามสถานที่ที่ระบุไว้เท่านั้น

 

ข้อควรระวัง: ถ้วยกระดาษหรือกล่องกระดาษใส่อาหารที่ไม่เปียกน้ำ ให้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่าเป็นจากกระดาษเคลือบด้วยพลาสติกซึ่งหมายถึงมันจะถูกนำไปทิ้งที่ -> landfill

 

2. มีจำนวนมากพอที่จะคุ้มค่ากับการดำเนินการหนึ่งครั้ง: พลาสติกหลายแบบมีขนาดเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย สามารถรวบรวมได้ยาก 

EX. ถุงพลาสติกทั้งแบบถุงร้อนและถุงหูหิ้ว ที่จริง ๆ ก็สามารถรีไซเคิลด้วยความเป็น single material แต่มีการรวบรวมอย่างเป็นระบบค่อนข้างน้อย เลยเกิดปัญหาหลุดจากระบบการรีไซเคิลเยอะ 

EX. หลอดก็คล้ายกัน แม้จะทำมาจากพลาสติก PP (Polypropylene) ที่โดยคุณสมบัติทางเคมีแล้วสามารถรีไซเคิลได้ แต่ด้วยขนาดที่เล็กมาก ไม่สามารถที่จะเข้าเครื่องรีไซเคิลตามปกติได้ ถึงเดี๋ยวนี้จะมีหลอดพลาสติกที่บอกว่าย่อยสลายได้ ทำมาจากไบโอพลาสติก PLA สังเกตได้จากสีที่ขุ่น แตกง่าย แต่การย่อยสลายจะเกิดขึ้นในสภาพที่เหมาะสมเท่านั้น (Industrial compostable) ไม่มีการรับไปรีไซเคิลเช่นเดียวกัน มีจุดจบที่เดียวกันกับหลอดทั่วไป คือ บ่อขยะหรือแหล่งน้ำทั่วโลก

3. ตัววัสดุเอง Recyclable ได้จริง: พลาสติกเกือบทุกชิ้นจะมีแปะสัญลักษณ์รีไซเคิล แต่ไม่ใช่ทุกชิ้นที่รีไซเคิลได้ อย่างพลาสติกประเภท PVC (ผ้าม่านห้องน้ำ, ปกแฟ้มเอกสาร) หรือ PS (ช้อนส้อมครั้งเดียวทิ้ง, โฟม) เป็นต้น 

4. บางทีสีก็มีผล: ตัวอย่างที่ชัดที่สุดคือขวดพลาสติก PET ราคาขวดใส 9.50 บาท/กก. ขวดสี 1.80 บาท/กก. ส่วนขวดที่สกรีนลาย ราคาตกไปถึง 0.20 บาท/กก. (อ้างอิงราคาจากวงษ์พาณิชย์ 3/3/2021) เพราะขวดที่มีสีหรือสกรีนเมื่อรีไซเคิลจะได้เป็นเม็ดพลาสติกสีเทา ซึ่งมักจะไม่เป็นที่ต้องการของตลาด

 

สรุปแล้ว ของที่สามารถรีไซเคิลได้คือของที่ขายได้ ถ้าอยากรู้ว่าอะไรรีไซเคิลได้ ให้เข้าไปดูราคาในเว็บไซต์ร้านรับซื้อขยะ ซึ่งในแต่ละวันก็มีราคาไม่เท่ากัน และแตกต่างไปในแต่ละเจ้า แต่ละพื้นที่

 

คนเก็บคัดแยกขั้นที่ 1 และ 2

นี่คือ key person ในการรีไซเคิลก็ว่าได้ เพราะเป็นด่านแรก ๆ ในการคัดเลือกว่าขยะชิ้นไหนจะได้ไปต่อหรือจะตกรอบ เงื่อนไขในการคัดเลือกคือ

  1. สภาพไม่เละเกิน พอจะคัดแยกได้ มักจะขึ้นอยู่กับผู้บริโภค ส่วนใหญ่จะเลอะจากอาหารและเครื่องดื่ม ถ้าดูแล้วเละทั้งถัง บางทีก็ไม่คุ้มที่จะคุ้ย ๆ เพื่อเลือกมาขาย

  2. มีค่าพอที่จะขายได้ อยู่ในรายการรับซื้อ การที่จะมีค่า/ราคารับซื้อเพื่อรีไซเคิลได้ 

 

>> ปัญหาที่พบในปัจจุบันคือ 

  1. ทุกถังเละ พี่ ๆ จะมีกัน 2 ทางเลือกคือ เลือกเฉพาะที่หยิบง่าย ขายคล่อง เช่น ขวดพลาสติก ขวดแก้ว กระป๋อง กับปล่อยถังนั้นไปตามยถากรรม

  2. ไม่รู้ว่านอกจากขยะยอดฮิตอย่างขวดน้ำแล้วยังมีขยะอย่างอื่นที่ขายได้อีกเพียบ

 

ผู้บริโภค หรือ คนทิ้งขยะ

มี 2 ทางเลือกคือ

  1. รู้ว่าอะไรบ้างที่ขายได้=รีไซเคิลได้ คัดแยกไว้เป็นประเภทที่บ้านตัวเอง หรือทิ้งลงในถังขยะรีไซเคิล

  2. ถ้าจำไม่ได้ว่ามีอะไรบ้าง ให้ทิ้งขยะที่สะอาดและแห้ง (พอประมาณ ไม่จำเป็นต้องสะอาดปิ๊ง) ลงในถังขยะรีไซเคิล ถ้ายังมีน้ำหรืออาหารอยู่ ให้เททิ้งแยกไว้ให้เรียบร้อย เท่านี้ก็ช่วยให้การทำงานของขั้นตอนต่อไปง่ายขึ้นมากแล้ว 

 

ถึงจะเป็นขยะสะอาด คัดแยกง่าย บางทีก็รีไซเคิลยากหรือรีไซเคิลไม่ได้ตั้งแต่เกิด

จะเห็นได้ว่านอกจากขึ้นกับผู้ผลิตอย่างมาก ว่าได้ออกแบบมาตอบโจทย์เงื่อนไขการรีไซเคิลหรือเปล่า 

เราอาจจะคิดว่าการที่บริษัทแปะป้ายว่าสินค้านี้ recyclable แล้วสินค้าชิ้นนั้นจะสามารถรีไซเคิลได้ หรือเห็นว่ามันเป็นพลาสติก กระดาษ อะลูมิเนียมก็คงรีไซเคิลได้ ซึ่งไม่เป็นอย่างนั้นเสมอไป

 

ในตอนต่อไป เรามาดูกันว่าจะมีวิธีอะไร ที่ผู้ผลิตสามารถเพิ่มความสามารถในการรับผิดชอบในวงจรชีวิตสินค้าของตัวเองได้บ้าง และในส่วนของผู้บริโภค เราจะทำอะไรได้อีกบ้าง เพื่อช่วยให้เราได้บริโภคอย่างมีความรับผิดชอบมากขึ้น

 

ดูเพิ่ม http://www.wongpanit.com/list_history_price 

 

#AsGreenAsYouCan

#littlebiggreen

 

Quiz

Sharing Green Shop

Sharing Your Green Shop

Sharing your green shop
มาแนะนำร้านกรีนสุดโปรดของคุณกันเถอะ

มาช่วยกันแชร์ข้อมูลของร้านกรีน ๆ ที่คุณ รู้จัก ให้กลายเป็นคอมมูนิตี้ที่ทุกคนสามารถ ค้นหาร้านกรีน ๆ ที่อยู่ใกล้ตัวคุณ

เริ่มเลย!

Shade of Green

คุณคิดว่าตัวเองมีความกรีนแค่ไหน?

Play Quiz!