biodiversity
K
Knowledge

Biodiversity: ความหลากหลายในผืนน้ำ บนบก และในอากาศ

ในวันที่ 22 พฤษภาคมนี้เป็นวัน World Biodiversity Day 2021 หรือวันความหลากหลายทางชีวภาพโลก วันนี้เราจะพาทุกคนไปดูกันว่าทำไมเรื่องนี้ถึงเป็นเรื่องที่เราทุกคนควรใส่ใจและใกล้ตัวเรามากขนาดไหน

 

ความหลากหลายทางชีวภาพ อาจจะดูมีความหมายที่ตรงตัว ว่าคือการมีชนิดพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตหลายชนิดในที่ใดที่หนึ่ง แต่ในความเป็นจริง ความหลากหลายทางชีวภาพมีความซับซ้อนมากกว่านั้น

 

โดยทั่วไปจะแบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ 1. ระดับพันธุกรรม (Genetic Diversity) 2. ระดับชนิดพันธุ์ (Species Diversity) 3. ระดับระบบนิเวศ (Ecosystem Diversity)

 

1. ระดับพันธุกรรม (Genetic Diversity)

เราอาจจะเห็นได้ชัดจากผลของ Natural Selection หรือการคัดเลือกโดยธรรมชาติ คือการวิวัฒนาการให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป เช่น ยีราฟที่มีการปรับลักษณะทางพันธุกรรมให้คอยาวขึ้น เพื่อให้เข้ากับการกินอาหารที่อยู่สูง หรืออาจจะเกิดจากการควบคุม เช่น การคัดเลือกพันธุ์สุนัขเพื่อผสมโดยมนุษย์ หรือในมนุษย์เองจะเห็นได้ชัดจากสีตา สีผม ผิวหนังของคนแต่ละเชื้อชาติ

 

สำคัญยังไง 

เป็นสิ่งที่ทำให้ยังมีสิ่งมีชีวิตชนิดนั้นยังดำรงอยู่ กล่าวคือ เมื่อสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งพบว่าต้องปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อม ส่วนมากจะเกิดการปรับตัวผ่านสารพันธุกรรมในรุ่นลูกต่อไป ซึ่งลูกของแต่ละตัวก็อาจจะได้รับการพัฒนามาคนละแบบ การคัดเลือกโดยธรรมชาติจะช่วยคัดเลือกว่าการปรับแบบไหนจะสามารถทำให้เผ่าพันธุ์อยู่รอดได้ต่อไป 

 

2. ระดับชนิดพันธุ์ (Species Diversity) 

มักจะเป็นภาพแทนของความหลากหลายทางชีวภาพ ในระบบนิเวศหนึ่ง ๆ หรือมากกว่าหนึ่งก็ต้องมีสิ่งมีชีวิตหลายชนิดพันธุ์ (species) เพื่อมีความสัมพันธ์กันเพื่อคงสมดุลธรรมชาติเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์กันแบบได้ประโยชน์ร่วมกันแบบแมลงที่ดูดกินน้ำหวานเป็นอาหารจากพืชพรรณดอกไม้และนำเมล็ดพันธุ์ไปกระจายต่อในที่ต่าง ๆ ความสัมพันธุ์ที่แค่อยู่ร่วมกันในพื้นที่เดียวกัน หรือความสัมพันธ์แบบผู้ล่าและเหยื่อเองก็ตาม

 

สำคัญยังไง

นึกภาพห่วงโซ่หรือสายใยอาหาร ที่มีผู้ผลิต ผู้บริโภคหลายลำดับขั้น และผู้กำจัดซาก ลองจินตนาการว่าหากผู้บริโภคลำดับที่ 1 หายไป สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ มีผู้ผลิตจำนวนมากเกินไปในธรรมชาติ และผู้บริโภคลำดับถัดไปอาจจะมีจำนวนลดลง เพราะไม่มีอาหาร หรือถ้าเปลี่ยนอาหาร ก็จะไปกระทบกับอาหารหรือผู้ที่กินอาหารเดิมได้

 

3. ระดับระบบนิเวศ (Ecosystem Diversity)

คือ การประกอบกันเป็นโลกในปัจจุบัน ต้องมีหลายระบบนิเวศ โดยที่แต่ละระบบนิเวศก็เป็นที่อยู่ของความหลากหลายทางชีวภาพระดับพันธุกรรมและชนิดพันธุ์

 

สำคัญยังไง

การมีอยู่ของแต่ละระบบนิเวศให้คุณค่าที่แตกต่างกันไป เช่น เราต้องมีระบบนิเวศป่าชายเลนเพื่อป้องกันไม่ให้ระบบนิเวศทะเลกัดเซาะระบบนิเวศชายฝั่ง/บนบกมากเกินไป มีระบบนิเวศมหาสมุทรที่กว้างใหญ่เพื่อดูดซับคาร์บอนและเป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเล


 

 

น่ารู้: ปะการัง (Corals) สิ่งมีชีวิตผู้พยุงความหลากหลายทางชีวภาพใต้ทะเล 

 

เพื่อน ๆ คิดว่าปะการังเป็นสัตว์หรือพืช? 
หลายคนอาจคิดว่าปะการังเป็นพืช เนื่องจากรูปร่างของมัน แต่จริง ๆ แล้วปะการังเป็นสัตว์ เพราะไม่สามารถสร้างอาหารเองได้ แต่ที่ปะการังสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ เป็นเพราะมีสาหร่าย Zooxanthellae อาศัยอยู่ในเนื้อเยื่อของปะการัง ทำหน้าที่สังเคราะห์แสงเพื่อเป็นอาหารและพลังงานให้กับปะการัง สีที่ต่างกันของปะการังก็เกิดขึ้นจากสาหร่ายเช่นกัน 

 

ปะการังเป็นที่อยู่และอาหารของปลาและสิ่งมีชีวิตใต้น้ำมากกว่าล้านชนิด (Species Diversity) มีผลกับจำนวนอาหารและเศรษฐกิจของมนุษย์ และยังช่วยปกป้องระบบนิเวศชายฝั่งชายฝั่งด้วยการลดความแรงของคลื่นที่ซัดได้อีกด้วย (Ecosystem Diversity) และด้วยตัวมันเองเรายังเห็นความหลากหลายของปะการัง (Genetic Diversity) ผ่านบรรดาสีสันและรูปร่าง ซึ่งปะการังอาจมีได้มากกว่า 2000 ชนิด!

 

แต่ตอนนี้ปะการังกำลังตกอยู่ในวิกฤติด้วยปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาว (Coral Bleaching) ซึ่งเกิดจากสาเหตุหลักอย่างสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง (Climate Change) 

 

Coral bleaching in Chagos | Photo by Mark Spalding https://flic.kr/p/9kZG1q

ปะการังฟอกขาวเกิดขึ้นได้อย่างไร?

เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น 1-2 องศาเซลเซียส ปะการังจะอยู่ในภาวะเครียดและทำการขับไล่สาหร่ายออกไป ทำให้เหลือแต่ส่วนเนื้อเยื่อสีใสและ Skeleton สีขาว เห็นเป็นปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาว ถ้าสถานการณ์ไม่รุนแรงมาก หรือดีขึ้น สาหร่ายอาจจะกลับมาและปะการังอาจจะฟื้นฟูขึ้นมาได้ แต่ด้วยการฟอกขาวที่เกิดบ่อยขึ้นและรุนแรงขึ้น ทำให้โอกาสในการกลับมาฟื้นฟูตัวเองของปะการังน้อยลงไปเรื่อย ๆ จนทำให้ปะการังตายลงในที่สุด 

 

^ภาพแสดงโครงสร้างภายใน Polyp ที่ลักษณะคล้ายกับนิ้วมือจำนวนมากของปะการัง
 

อะไรที่ทำให้เกิดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity loss)

  1. ผลกระทบจาก Climate Change หรือสภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง - ในผืนน้ำ เราจะเห็นได้ชัดจากปัญหาปะการังฟอกขาวที่เล่าไปข้างบน หมีขั้วโลกเป็นอีกตัวอย่างที่น่าสนใจ เพราะ Climate Change ส่งผลต่อเนื่องกับ Habitat loss และทำให้การหาอาหารยากขึ้น 

  2. Overexploitation การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรมากเกินไป - การล่าสัตว์หรือประมงเกินขนาดอาจจะทำให้บางสายพันธุ์หายไป กระทบกับจำนวนผู้ผลิตหรือผู้บริโภคที่เกี่ยวข้องได้

  3. Habitat loss การสูญเสียพื้นที่ที่อยู่อาศัย - ทั้งจากธรรมชาติและจากมนุษย์ (ซึ่งอาจจะเป็นทั้งตัวการหลักและยังเป็นตัวเร่งให้ภัยธรรมชาติรุนแรงขึ้น) เช่น ไฟป่า หรือการบุกรุกพื้นที่ป่า ซึ่งจะทำให้สัตว์หรือพืชมีโอกาสที่จะสูญพันธุ์ได้ หากเป็นสายพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่นั้นโดยเฉพาะ หรืออาจจะทำให้สัตว์ต่าง ๆ ต้องอพยพเข้ามาปฏิสัมพันธ์กับชุมชนของคนมากขึ้น อาจเกิดปัญหาระหว่างสัตว์และคน หรือการนำโรคจากสัตว์มาสู่คนได้

  4. Pollution มลพิษ - การก่อมลภาวะมีผลต่อสิ่งมีชีวิตไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม ที่น่าสนใจคือมลภาวะทางดินซึ่งเกิดจากการใช้สารฆ่าแมลง มลพิษจะสะสมที่พืชพันธุ์และจะเป็นอันตรายกับสัตว์ที่มาช่วยนำพาเมล็ดพันธุ์ไปเติบโตที่ถิ่นอื่น เช่น ผึ้ง นก หรือแมลงอื่น ๆ เมื่อจำนวนของสัตว์เหล่านี้น้อยลง การกระจายตัวของพืชพันธุ์ก็น้อยลงตามไปด้วย

  5. Invasive Alien species การบุกรุกของสายพันธุ์ต่างถิ่น - ในหลายประเทศ การนำเข้าพืชพันธุ์หรือแม้กระทั่งผักผลไม้ต่างถิ่นนำเข้าจำเป็นต้องถูกตรวจสอบอย่างละเอียด หรือถูกทำลายตั้งแต่ที่สนามบิน เพราะอาจเกิดการแพร่เชื้อโรคให้กับพืชพันธุ์พื้นถิ่นได้ แม้จะเป็นส้มเหมือนกัน แต่ด้วยสายพันธุ์และสภาพแวดล้อมต่างกัน ย่อมมีความทนทานต่อโรคที่แตกต่างกัน พันธุ์นำเข้าอาจจะนำเชื้อที่พันธุ์ท้องถิ่นไม่สามารถต่อสู้ได้เข้ามาด้วย หรือตัวอย่างใกล้ตัวและเคยเป็นข่าวใหญ่คือปลาซัคเกอร์ที่ถูกนำเข้ามาเพื่อดูดคราบในกระจกตู้ปลา เมื่อตัวใหญ่ขึ้น มันสามารถดูดอาหารที่ใหญ่ขึ้นตามไปด้วย เช่น ปลาหรือสิ่งมีชีวิตอื่น เมื่อคนเลี้ยงนำไปปล่อยสู่แหล่งน้ำ จึงทำให้ระบบนิเวศเสียหาย 

 

ทำไมต้องใส่ใจ Biodiversity loss

ปัญหานี้เกี่ยวอะไรกับ “เรา”?

  1. ในอนาคต สิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ที่เห็นกันในวันนี้ อาจจะมีแค่รูปหรือเหลือแต่ชื่อ 

  2. ไม่ใช่แค่สิ่งมีชีวิตในธรรมชาติ แต่สิ่งมีชีวิตในการควบคุมและจำเป็นต่อการใช้ชีวิต อย่างเช่น ข้าวปลาอาหาร ที่ไม่มีสายพันธุ์ให้เลือกหลากหลาย อาจจะทำให้ตัวเลือกในการบริโภคน้อยลงและราคาแพงขึ้น 

  3. Habitat loss อาจจะเพิ่ม Zoonotic diseases หรือโรคติดต่อจากสัตว์สู่คนได้ COVID-19 ที่อาจมีที่มาจากค้างคาว ก็เป็นหนึ่งในนั้น 

  4. ความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติให้ประโยชน์อย่างมากในการวิจัยเป็นยารักษาโรค และเป็นที่มาของเศรษฐกิจการเกษตรหรืออื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

  5. ไม่ว่าจะเป็นป่าไม้หรือท้องทะเลก็ล้วนคงสมดุลให้กับโลกใบนี้ โดยเฉพาะเรื่องการดูดซับความร้อน ดูดซับแก๊สเรือนกระจก 

 

สิ่งที่เราทำได้คือ

  1. ใช้ชีวิตโดยนึกถึงวิธีการลดผลกระทบที่สามารถทำได้ 

  2. เป็น Conscious Consumers โดยการตระหนักในพลังของการเป็นผู้บริโภคที่สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่ม สนับสนุนสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและเรียกร้องผู้ผลิตให้ตระหนักถึงปัญหานี้เช่นเดียวกัน เช่น เลือกโปรตีนจากปลา หมูหรือไก่แทนเนื้อวัว หรือเลือกนมจากธัญพืชแทนนมวัว สนับสนุนสินค้าในท้องถิ่นหรือในประเทศมากกว่าสินค้านำเข้า


 

อ้างอิง:

https://www.greenfacts.org/en/biodiversity/l-3/1-define-biodiversity.htm 

https://www.conserve-energy-future.com/what-is-biodiversity.php 

https://oceanservice.noaa.gov/facts/coral.html

https://www.worldwildlife.org/pages/everything-you-need-to-know-about-coral-bleaching-and-how-we-can-stop-it

https://www.britannica.com/animal/coral

https://sciencing.com/examples-genetic-diversity-16445.html

https://www.theguardian.com/news/2018/mar/12/what-is-biodiversity-and-why-does-it-matter-to-us

 

#AsGreenAsYouCan

#littlebiggreen

 


 

Quiz

Sharing Green Shop

Sharing Your Green Shop

Sharing your green shop
มาแนะนำร้านกรีนสุดโปรดของคุณกันเถอะ

มาช่วยกันแชร์ข้อมูลของร้านกรีน ๆ ที่คุณ รู้จัก ให้กลายเป็นคอมมูนิตี้ที่ทุกคนสามารถ ค้นหาร้านกรีน ๆ ที่อยู่ใกล้ตัวคุณ

เริ่มเลย!

Shade of Green

คุณคิดว่าตัวเองมีความกรีนแค่ไหน?

Play Quiz!