2021review
K
Knowledge

รีวิวบทเรียนส่งท้ายปี 2021

 

ปีที่ผ่านมาเป็นปีที่หนักหน่วงสำหรับทุกคนเลยใช่ไหม?

.

ไม่ว่า New Normal ที่ทำให้การใช้ชีวิตเปลี่ยนไป หรือเรื่องราวระหว่างทาง

.

บทความส่งท้ายปีจาก little big green ฉบับนี้ขอพาทุกคนไปรีวิวบทเรียนปี 2021 ที่จะทำให้ในปีต่อไป เราได้เห็นแนวทางในการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นสำหรับทุกคนกัน

 

😷 “COVID-19 กับสิ่งแวดล้อม” 

 

เป็นเวลาเกือบสองปีที่เราได้ใช้ชีวิตแบบ New Normal กัน ไม่ว่าจะเป็นการใส่แมสก์ พกแอลกอฮอล์ พบปะกันแบบออนไลน์หรือการสะสมแต้มฉีดวัคซีน

.

สังเกตไหมว่า เราได้รับหรือได้เพิ่มผลกระทบอะไรบ้าง?

.

🦠 ไม่เป็นไร ถ้าจะมีขนส่งโทรเรียกบ่อย ไม่ว่าจะจากอาหารเดลิเวอรีหรือช้อปปิ้งออนไลน์ ขอแค่เวลาเล็กน้อย ในการช่วยทำความสะอาดและคัดแยกเพื่อส่งต่อให้พี่ ๆ แม่บ้าน รถขยะ รถซาเล้งได้ปลอดภัยและมีรายได้เพิ่ม

.

🦠 ไม่เป็นไร และดีมาก ถ้าทุกคนใส่หน้ากากอนามัยอย่างเคร่งครัด ตรวจโควิดก่อนกลับบ้าน หลังใช้เสร็จแล้วอย่าลืมรวบรวมให้ดี เขียนกำกับบนถุง (ใสหรือสีแดง) ว่าขยะติดเชื้อ แยกทิ้งในถังขยะติดเชื้อ (ถ้าไม่เจอ ทิ้งรวมกับถังขยะทั่วไปได้ อย่าลืมตัดห่วงหน้ากากด้วยนะ! ถ้าหลุดลอดไปจากระบบจัดการขยะ จะได้ไม่ทำร้ายสัตว์ตามธรรมชาติ)

.

🦠 เข้าใจได้ ถ้าบางครั้งจะเลือกใช้รถส่วนตัวมากกว่าขนส่งสาธารณะเพื่อลดความเสี่ยง ลดค่าใช้จ่าย แต่อย่าลืมวางแผนการเดินทางให้ดี ๆ บ้านเดียวกันติดรถกันไปก็ได้ จะได้ลดระยะทางที่ไม่จำเป็นเพื่อลดคาร์บอนฟุตปริ้นท์ได้ด้วย

.

และคงจะดี ถ้าเราได้รับการอำนวยความสะดวก การเอื้อให้ทุกคนเข้าถึงวิธีที่เป็นมิตรต่อโลกมากขึ้น เช่น มีระบบการจัดการขยะติดเชื้อที่ใกล้บ้านทุกคน ระบบรีไซเคิลง่ายขึ้น ขนส่งสาธารณะราคาถูกลง หรือแม้แต่ในโครงสร้างพื้นฐานใหญ่ ๆ อย่างเช่น ไฟฟ้า ที่สามารถให้ทุกคนได้ใช้ไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดในราคาที่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน

 

 

🎁 ในปีนี้ เราต้อง save หลายอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นผู้คน สถานที่หรือแม้แต่อากาศสะอาด ซึ่งล้วนแล้วแต่ต้องการการมองเห็น การได้ยินเสียง และการได้ทำความเข้าใจร่วมกัน เพื่อเกิดการแก้ไขพัฒนาอย่างยั่งยืนสำหรับ “ทุกคน”

.

ช่วงท้ายปี เรามี #saveจะนะ และ #saveนาบอน เกิดขึ้นมา และคิดว่าเป็นตัวอย่างที่ดีที่สามารถทำให้ปีหน้าหรือปีต่อไป เราจะไม่ต้อง #save___จากการพัฒนาแบบกระจุก ผลกระทบกระจายอีก

.

🌊 แม้ว่าพี่น้องจะนะและนาบอนจะกลับบ้านไปแล้วหลังได้ข้อตกลงที่ดูดีขึ้น (แต่ต้องช่วยจับตา ไม่ให้ซ้ำรอยปีที่แล้ว) ในวันนั้นพี่น้องได้ขึ้นมาเมืองหลวงเพื่อเรียกร้องในสิ่งเดียวกัน คือ การได้รับการมองเห็น รับฟัง และได้พัฒนาร่วมกันในชุมชนบ้านเกิดเมืองนอนของพวกเขา เป็นการพัฒนาเพื่อทุกคน ไม่ใช่เพื่อกลุ่มทุนกลุ่มใด

.

🌊 ทำไมพี่น้องจากแดนใต้ต้องดั้นด้นเดินทางมานอนตากฝุ่นพิษถึงเมืองกรุงด้วย ทั้ง ๆ ที่ผลกระทบที่บ้านพวกเขา ควรจะตัดสินกันได้เองภายในพื้นที่? ทำไมอำนาจการตัดสินใจว่าจะพัฒนาไปทางไหนถึงขึ้นอยู่กับกลุ่มทุนและผู้มีอำนาจที่ไม่เคยสัมผัสวิถีชีวิตในพื้นที่?

.

🌊 หลายคนบอกว่าพวกเขาควรต้องเสียสละเพื่อส่วนรวม เพื่อประโยชน์ของชาติ ต้องพัฒนาตัวเองเข้าหาอุตสาหกรรมจะได้ไม่ต้องลำบากหางาน 

.

🌊 #saveจะนะ ถึงเราอาจจะไม่รู้ว่าปลาที่เรากินนั้นมาจากไหน เพราะไม่เคยมีใครบอก แต่ประมงชายฝั่งเป็นหนึ่งไม่กี่วิธีในการประมงแบบยั่งยืน ที่รักษาทั้งสิ่งมีชีวิตในท้องทะเลให้ยังมีจำนวนมากพอให้พวกเราบริโภค ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมเหมือนประมงอุตสาหกรรม การทำประมงนับว่าเป็นอาชีพที่ต้องใช้ทักษะสูงเช่นเดียวกันกับอาชีพอื่น ๆ ทำไมเราถึงสนับสนุนให้คนที่มีโอกาสได้เลือกทำในสิ่งที่ชอบ ที่ถนัด แต่ขับให้คนต่างถิ่นต้องทำงานป้อนตลาดอุตสาหกรรมเท่านั้น? นอกจากนี้ ในนิคมฯ อื่น ๆ แรงงานมักจะเป็นคนต่างถิ่นมากกว่าคนในท้องถิ่นที่ไม่มีคุณสมบัติตรงกับการรับสมัคร 

.

🌊 ความเจริญคืออะไร? เราสามารถเลือกที่จะพัฒนาทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมไปพร้อม ๆ กัน แค่ต้องใช้แรงในการพูดคุยกัน ทำความเข้าใจ และใช้ความสร้างสรรค์มากกว่านี้ ทำไมเราถึงต้องบังคับให้ความเจริญเกิดขึ้นอย่างฉาบฉวยด้วยเงินทุนเพียงอย่างเดียวด้วย? 

.

🌊 #saveนาบอน จริง ๆ แล้วในตัวโครงการอาจจะมีจุดประสงค์ที่ดี เช่น โรงไฟฟ้าชีวมวล หากเกิดการพูดคุย มีข้อมูลเปิดเผย และสร้างความมั่นใจได้จริงว่ามีมาตรการรองรับผลกระทบ และการสร้างในพื้นที่จะเกิดประโยชน์กับชุมชนจริง เช่น ลดการเผาวัตถุดิบส่วนเกินจากเกษตร เพิ่มรายได้ รวมถึงได้ทำการศึกษา SEA เรียบร้อยแล้วว่าสามารถดำเนินการได้อย่างเหมาะสม อาจจะเปลี่ยนสถานการณ์ให้เป็น win-win situation ก็ได้ แต่ความไม่ชัดเจน การฉวยโอกาสอย่างที่เกิดขึ้น ทำให้ไม่มีความเชื่อมั่น 

.

🌊 สำหรับการสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล ประเด็นที่น่าสนใจคือ ตอนนี้ปริมาณไฟฟ้าสำรองในประเทศมีเกือบ 50% จากที่ควรมีแค่ 15% ซึ่งสะท้อนอยู่ในค่าไฟผันแปรที่สูงเกินกว่าจำเป็นของทุกครัวเรือน หากต้องการสร้างโรงไฟฟ้าเพื่อสำรองกรณี Energy Transition (การเปลี่ยนผ่านเป็นพลังงานสะอาด) ควรสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากแหล่งที่ “สะอาด” จริง ๆ คือสะอาดทั้งในแง่สังคมและสิ่งแวดล้อม เช่น เขื่อนบางที่แม้จะผลิตไฟฟ้าได้มาก แต่ทำลายระบบนิเวศอย่างรุนแรง ทั้งยังสร้างความยากลำบากให้กับชุมชนอีกด้วย โรงไฟฟ้าขยะ/ชีวมวลหลายที่มีการจัดการกับวัตถุดิบและมลพิษอย่างไม่เหมาะสม (หลายประเทศไม่ต้องการให้เรียกโรงไฟฟ้าแบบนี้ว่า Clean Energy) 

.

🌊 ความไม่มั่นใจในกระบวนการตรวจสอบ ถึงแม้จะมีการกำหนดว่าต้องทำ EIA แต่การทำ EIA โดยไม่ใช่องค์กรที่ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับโครงการฯ ย่อมทำให้เกิดความไม่ไว้วางใจ + หากเกิดผลกระทบขึ้นมา ใครจะช่วยเหลือเยียวยาชาวบ้าน? หากมีความต้องการพัฒนาเกิดขึ้นในอนาคต ผู้คนพร้อมเสียสละแน่นอน หากเห็นว่าเป็นทางที่ดีที่สุดสำหรับทุกคน สังคมและสิ่งแวดล้อมไม่ถูกเอาเปรียบ

.

เพื่อไม่ให้ต้อง #saveพื้นที่อื่นอีกต่อไปในอนาคต เราควรเรียกร้องให้เกิดความโปร่งใส การร่วมกันถกประเด็นในแนวทางของการพัฒนาอย่างยั่งยืนสำหรับทุกคน โดยเฉพาะผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ เพราะเมื่อชุมชนร่วมด้วย ธุรกิจและการพัฒนาก็อยู่ได้อย่างสบายใจร่วมกัน 

 

⚡“Net-Zero และ รถ EV”

.

สองคำที่เห็นบ่อยในปีที่ผ่านมา เป็นเรื่องดีที่เรื่องเหล่านี้อยู่ในวงกว้างมากขึ้น แต่จะทำอย่างไรให้เวิร์กสุด?

.

“Net-Zero” คือเป้าหมายที่หลายองค์กรและหลายประเทศตั้งไว้เพื่อทำให้คาร์บอน/ก๊าซเรือนกระจกของตัวเองเป็นศูนย์ อาจจะภายใน 2035 หรือ 2050 หรือปีอื่น ๆ แล้วแต่ที่สามารถทำได้ 

 

ถ้าเป็นเป้าหมายสูงสุด คงจะเป็นการที่กิจกรรมแต่ละอย่างที่ทำจะไม่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเลย หรืออาจจะเป็นการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างการดักจับกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture and Storage) ให้ใช้งานได้จริง แต่ในหลาย ๆ ที่ มักจะใช้การปลูกต้นไม้เพื่อทดแทน ซึ่งบางทีก็ไม่ใช้การปลูกอย่างถูกต้อง และด้วยข้อจำกัดของธรรมชาติ การลดคาร์บอนด้วยวิธีนี้ยากที่จะตามทันการสร้างผลกระทบที่เกิดขึ้นแล้ว หรือแม้แต่การใช้ Carbon Credit เอง ด้วยตัวคอนเซปต์อาจจะดูสมเหตุสมผล แต่จะดีกว่าไหม ถ้าแทนที่จะซื้อโควต้าการผลิตผลกระทบมาเป็นหาวิธีลดผลกระทบและลดต้นทุนไปพร้อม ๆ กัน 

.

“รถ EV” หรือรถยนต์พลังงานไฟฟ้า คงเป็นทางเลือกสำหรับคนที่กำลังมองหารถส่วนตัวคันใหม่ ทั้งเรื่องความ eco-friendly เรื่องค่าไฟที่ถูกกว่าค่าน้ำมัน และความชาญฉลาดที่มากับตัวรถ แต่รู้ไหมว่าการใช้ EV เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและผู้คนได้มากกว่านี้อีก! ถ้าแหล่งพลังงานที่นำมาสร้างกระแสไฟฟ้าเป็นพลังงานสะอาด (ไม่ใช่แค่พลังงานหมุนเวียนหรือพลังงานฟอสซิลอย่างก๊าซธรรมชาติ) และแบตเตอรี่ถูกพัฒนาให้ใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพมากขึ้น รีไซเคิลง่ายขึ้น เพราะการนำลิเธียม ซึ่งเป็นส่วนประกอบหลักของแบตฯ สร้างผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมเยอะมาก เพราะมาจากอุตสาหกรรมเหมืองแร่ สำหรับภายในประเทศ สิ่งที่จะสามารถช่วยได้คือ 1. การสนับสนุนให้ราคารถ EV เข้าถึงได้มากขึ้น 2. มีจุดชาร์จไวมากขึ้น 3. มีเทคโนโลยีที่ผลิตในประเทศเองได้ 4. ผลักดันให้เกิดแหล่งพลังงานสะอาดเพียงพอต่อความต้องการใช้ไฟฟ้า ลดการสนับสนุนพลังงานไม่สะอาดที่กระทบสิ่งแวดล้อม สุขภาพชุมชน  

.

ในปีหน้า เราคงจะได้เห็นทิศทางการเปลี่ยนแปลงใหม่ ๆ หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นด้านเทคโนโลยี สังคม สิ่งแวดล้อม หรือแม้แต่เรื่องสุขภาพ

.

ขอให้ปีใหม่นี้เป็นช่วงเวลาที่ดีขึ้นสำหรับทุกคน ขอให้มีกำลังใจเพื่อผลักดันให้เกิดสิ่งที่ดีขึ้นกับตัวเองและสิ่งรอบตัวต่อไป :)

 

#AsGreenAsYouCan #littlebiggreen

Quiz

Sharing Green Shop

Sharing Your Green Shop

Sharing your green shop
มาแนะนำร้านกรีนสุดโปรดของคุณกันเถอะ

มาช่วยกันแชร์ข้อมูลของร้านกรีน ๆ ที่คุณ รู้จัก ให้กลายเป็นคอมมูนิตี้ที่ทุกคนสามารถ ค้นหาร้านกรีน ๆ ที่อยู่ใกล้ตัวคุณ

เริ่มเลย!

Shade of Green

คุณคิดว่าตัวเองมีความกรีนแค่ไหน?

Play Quiz!